ติด “ทุ่นลอยน้ำลึก” ตรวจคลื่นยักษ์สึนามิ

ศูนย์เตือนภัยฯ นำร่องติดตั้ง กลางทะเลอันดามัน   มูลค่า 150 ล้านบาท ใช้งานได้ 14 ธ.ค. แจงระบบส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม


วันนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ทำพิธีปล่อยเรือ”ซีฟเดค” (SEAFDEC) เพื่อปฏิบัติการติดตั้งทุ่นลอยน้ำลึกตรวจวัดคลื่นยักษ์สึนามิในทะเลอันดามัน จากท่าเรือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ มีกำหนดถึง จ.ภูเก็ต วันที่ 11 ธ.ค. และเดินทางต่อไปยังจุดติดตั้งทุ่นแห่งแรกใกล้เขตประเทศมาเลเซีย ซึ่งห่างออกไปอีก 130 กม. ในวันที่ 12 ธ.ค.และติดตั้งจุดที่สอง ใกล้เขตประเทศพม่า ภายในวันที่ 16 ธ.ค.
   
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับทุ่นที่ปล่อยมี 2 ชุดมูลค่า 150 ล้านบาท  แต่ละชุดประกอบด้วยส่วนที่วางกับพื้นท้องทะเล

จุดแรกลึก 700 เมตร จุดที่สองลึกราว 2,000 เมตร ทำหน้าที่วัดการเปลี่ยนแปลงของแรงดันน้ำเมื่อเกิดคลื่นสึนามิและการเคลื่อนผ่านตัวของน้ำ จากนั้นจะส่งข้อมูลด้วยสัญญานอะคูสติกกำลังส่ง 20 กิโลเฮิร์ตซ ไปยังส่วนที่สอง ซึ่งเป็นทุ่นลอยระดับผิวน้ำ (เซอร์เฟซ บุย)ทำหน้าที่แปลงสัญญาณส่งด้านดาวเทียมอิมมาแซต แล้วส่งกลับมายังพื้นโลกที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ใช้เวลาไม่เกิน 5  นาที เพื่อประมวลผลเพื่อตัดสินใจแจ้งประกาศเตือนภัย
   
ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ภายในวันที่ 14 ธ.ค.ทุ่นลอยแรก จะเริ่มทำงานส่งสัญญาณกลับมาได้

อย่างไรก็ตาม การปล่อยทุ่นเตือนภัยครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีคำพยากรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายคลื่นสึนามิปลายเดือน ธ.ค. แต่ได้เตรียมการล่วงหน้าเป็นปี การเลือกเวลาปล่อยทุ่นช่วงนี้ เพราะทะเลอันดามันคลื่นลมสงบ ส่วนกรณีรายงานข่าวที่ระบุว่าทุ่นเตือนภัยที่เคยติดตั้งไว้เสียหายนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เสียหาย แต่เป็นเพราะเชือกโยงทุ่นลอยน้ำกับส่วนที่วางใต้ท้องทะเลขาดจากกัน เพราะมีเรือประมงลักลอบผูกเรือ และได้เก็บทุ่นกลับมา เพื่อรอนำไปติดตั้งใหม่  ซึ่งการติดตั้งในครั้งนี้ ได้เตรียมการรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้เชือกโยงที่ขนาดโตขึ้นกว่าเดิม.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์