สั่งคุก 57 ปี แก๊งปลอมบัตรเครดิต

ศาลสั่งคุก 57 ปี นายดาบสันติบาล-แก๊งโรมาเนีย ปลอมบัตรเครดิตรูดเสียหายยับกว่า 50 ล้าน

เมื่อเวลา  10.30 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่ห้องพิจารณา 804  ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีปลอมบัตรเครดิต อ.377/2552 ที่พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโยนัท บูลลาเกอร์ อายุ 30 ปี นายโรเบิร์ต โรต้ารู อายุ 31 ปี ทั้งสองเป็นชาวโรมาเนีย ด.ต.ปราโมทย์ เปียทอง อายุ 43 ปี อดีต ผบ.หมู่ งาน 4 กก.2 ส.1 นายจิรายศหรือกิ่ม ศิริบวรเกียรติ อายุ 45 ปีและนายพนธกรหรือเอก ดีประเสริฐ อายุ 33 ปี เป็นจำเลยที่ 1-5  ในความผิดฐานร่วมกันมีไว้ซึ่งเครื่องมือสำหรับปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ปลอม ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมฯ อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 52 ระบุความผิดสรุป ว่า

เมื่อระหว่างวันที่ 11 เม.ย.-17 พ.ย. 2551 ต่อเนื่องกัน โดยจำเลยทั้งห้ากับพวกที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันปลอมบัตรเครดิตของธนาคารต่าง ๆ ซึ่งใช้ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ แทนการชำระด้วยเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสดอันเป็นการทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ เหตุเกิดที่ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร  ต่อมาวันที่ 18 พ.ย. 51 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ร่วมกันจับกุมพวกจำเลยพร้อมของกลางหลายรายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 แต่จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้ว ฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ซึ่งปลอมเป็นสายลับแฝงตัวอยู่นานหลายเดือน ได้ติดตามความเคลื่อนไหวเบิกความสอดคล้องพ้องกันว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ได้นำเข้าเครื่องปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศสเปนโดยการส่งพัสดุไปรษณีย์ จากนั้นทำการปลอมแปลงบัตรเครดิต ซึ่งนำข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตที่เป็นสมาชิกของจำเลยส่งมาจากภาคใต้ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้โทรศัพท์ตรวจสอบกับทางธนาคารว่า บัตรมีวงเงินเท่าใด ก่อนที่จะนำไปใช้ชำระค่าซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ร้านอัญมณี รวมถึงเบิกถอนเงินสด ซึ่งพยานโจทก์ได้ทำรายงานโดยบันทึกภาพถ่ายและลักลอบนำเอกสารของจำเลยมอบให้กับพนักงานสอบสวนดีเอสดีรวบรวมเป็นพยานหลักฐานโดยตลอด 

ทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดก็ปรากฏภาพของพยานอยู่ร่วมกับพวกจำเลยด้วย เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามจริงที่ได้ร่วมขบวนการและรู้เห็นพฤติการณ์ของกลุ่มจำเลยและรายละเอียดเป็นขั้นตอนว่าเดินทางไปที่ไหนอย่างไรซึ่งมีทั้งภาพถ่ายและเอกสารประกอบยืนยันคำเบิกความด้วย พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้มั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัย ยากที่จะแต่งเรื่องขึ้นและขณะจับกุมจำเลยที่ 1-3 เจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลาง ซึ่งเป็นเครื่องปลอมบัตรและกล้องขนาดเล็กที่ใช้ติดตั้งที่เครื่องเอทีเอ็มและการตรวจค้นรถเบนซ์ของจำเลยที่ 3 พบคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คซึ่งมีโปรแกรมการอ่านข้อมูลบัตรเครดิตและเครื่องปลอมบัตรเครดิต และตราอลูมิเนียมและพลาสติกที่ใช้ในการปลอมบัตร 

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1-3 และ 5 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ซึ่งพฤติการณ์ของพวกจำเลยกระทำเป็นขบวนการ พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-3 และ 5 ฐานนำเข้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับปลอมมาในราชอาณาจักร คนละ 9 ปีและฐานปลอมและใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 8 กระทง ๆ ละ 6 ปี รวม 48 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 57 ปี แต่ตามกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกสูงสุดได้ไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 1-3 และ 5 ไว้คนละ 20 ปี ริบของกลาง

ส่วนจำเลยที่ 4 แม้จะมีพยานเบิกความว่าเป็นผู้ซื้อและนำเครื่องปริ้นเตอร์ไปขายและนำเงินมาแบ่งกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงว่าร่วมกันปลอมบัตรด้วยและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเข้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทย รวมทั้งไม่ปรากฏว่านำเงินไปแบ่งให้กับใครอย่างไร พยานโจทก์จึงมีข้อสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้พิพากษายกฟ้อง



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์