ฮือฮาคิวจองกฐินวัดปากน้ำนานถึง397ปี

 

คมชัดลึก : ฮือฮาคิวจองกฐินพระราชทานวัดปากน้ำยาวเป็นหางว่าวถึงปี พ.ศ.2950 ต้องจองล่วงหน้าถึง 397 ปี ผช.เจ้าอาวาสเผย ประธานปีนี้ต้องจองล่วงหน้าถึง 36 ปี เตรียมนำปัจจัยที่ได้สร้าง “พระมหาเจดีย์รัชมงคล” ขณะที่กลุ่มพุทธฯ ร้อง วธ.ให้ชาวพุทธหยุดถวายเงินพระ ชี้ผิดพระวินัยเป็นบาป ผอ.พศ.ยอมรับในพระวินัยมีจริง แต่ขึ้นอยู่กับเจตนา

 สำหรับการดำเนินการขอพระราชทานผ้าพระกฐินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทอดถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษานั้น ได้เริ่มดำเนินการมาหลังจากพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำมรณภาพไป 2 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 49 แล้ว

 ด้าน น.ส.ตรีธา เนียมขำ นายกสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ กล่าวว่า ในปีนี้นอกจาก น.ส.ชูชีพ กาญจนวัฒน์

ที่ได้เป็นประธานในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน หลังจากจองล่วงหน้ามา 36 ปีแล้ว ยังมีผู้ที่ประสงค์จะเป็นประธานร่วมอีกจำนวน 1,082 ราย แยกเป็นประธานตลอดชีพจำนวน 592 ราย ประธานเฉพาะปีจำนวน 490 ราย และกรรมการจำนวน 1,201 ราย

 วันเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรมแจ้งว่า ได้มีกลุ่มพุทธศาสนิกชนยื่นแผ่นพับรณรงค์ต่อนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม

เกี่ยวกับขอให้หยุดทำร้ายพระพุทธศาสนา หยุดทำบาปให้แก่ตนเอง หยุดถวายทอง เงินแด่พระภิกษุและสามเณร ซึ่งในเอกสารรณรงค์ได้ระบุถึงการถวายเงิน ทองแด่พระภิกษุ สามเณรว่าผิดพระบัญญัติ โดยมีการอ้างอิงจากพระไตรปิฎกเล่ม 3 หน้า 940 เล่มสีน้ำเงิน และเล่ม 3 หน้า 887 เล่มสีแดง ถึงพระบัญญัติที่พระพุทธองค์ได้ระบุไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงยกสิขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ อนึ่งภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง-เงิน หรือยินดีทอง-เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องอาบัตินิสสัคคีย์ ต้องสละสิ่งของนั้นออกไป จึงจะพ้นโทษ

 ทั้งนี้ แผ่นพับรณรงค์ได้ระบุโทษของการทำผิดนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องตกโรรุวนรก 1 ชั่วอายุ คือ 4,000 ปี ซึ่งพุทธศาสนิกชนที่ทำผิดกับพระเพราะถวายสิ่งของที่ผิดพระวินัยก็ต้องโทษเหมือนกับพระแต่ได้รับโทษเบากว่า และท้ายเอกสารยังได้ระบุที่มาของเอกสารว่ามาจากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก บ้านห้วยยางทอง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ยอมรับว่า คำสอน และพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ระบุไว้ว่า

ให้พระภิกษุละเว้นจากลาภ ชื่อเสียง เงิน ทอง จริง แต่ขึ้นอยู่กับเจตนาด้วยว่า พระสงฆ์ยินดีในเงินทองนั้นหรือไม่ แล้วนำไปใช้อะไร ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วสมมติว่า หากวัดชำรุดแล้วพระสงฆ์ไม่รับเงินบริจาคจากประชาชน จะเอาเงินที่ไหนมาบูรณปฏิสังข์รวมทั้งจะพัฒนาพระพุทธศาสนา ซึ่งจะต้องมองเจตนาว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากพระรูปนั้น โลภ รับเงินบริจาคมาเพื่อใช้ในเรื่องส่วนตัว ก็ถือว่าผิด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์