ศชอ.เร่งส่งน้ำดื่ม-ชูชีพช่วย

ศชอ.เร่งส่งน้ำดื่ม-ชูชีพลงพื้นที่ภาคใต้ ช่วยเยียวยา สั่งเฝ้าระวัง 3 อำเภอในเมืองคอน ห่วงดินโคลนถล่ม เตือนร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อพยพ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 พ.ย. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ พบว่า ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขาดแคลนน้ำดื่ม จึงได้ประสานงานกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะจัดส่งน้ำดื่มโดยเครื่องบินซี 130 และรถไฟ คาดว่า จะถึงภายในวันนี้ นอกจากนี้ ยังได้ประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปให้บริการติดตั้งจุดบริการน้ำประปากับประชาชนในพื้นที่ 4 จุด เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำประปา ในขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้ หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง และน้ำเชี่ยว จึงต้องการเสื้อชูชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางศูนย์ได้ประสานกับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อจัดส่งให้โดยเร็ว

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมในพื้นที่ภาคใต้นั้น ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช

โดยเฉพาะ อ.สิชล อ.ขนอม และ อ.ร่อนพิบูลย์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนมาก และดินอุ้มน้ำไว้ปริมาณมากเช่นเดียวกัน จึงต้องเฝ้าระวังเหตุดินโคลนถล่ม โดยได้ประสานงาน เพื่อแจ้งเตือนภัย และให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่เดือนร้อน สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ยังสูง และล้นเข้า อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ คาดว่า จะเข้า จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบบริเวณเทศบาล อ.วารินชำราบ และ อ.เมือง จึงได้มีการประสานงานอพยพประชาชนเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ ลุ่มน้ำชี ขณะนี้ มีปริมาณน้ำสูงล้นตลิ่งสูงประมาณ 1.15 ม. ใน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม คาดว่า จะเข้าสู่ จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ จ.ยโสธร จึงได้ประกาศเตือนให้ประชาชนที่อยู่บริเวณริมน้ำอพยพ และขนของขึ้นที่สูง ทั้งนี้ ปริมาตรน้ำจะเข้าสู่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 7-8 พ.ย.นี้ ในขณะที่ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง จึงได้ประสานกรมชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยจะปล่อยน้ำในปริมาตร 3,169 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงคาดว่า ในวันที่ 7-8 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุด ประมาณ 2-2.10 ม. ซึ่งเป็นระดับเดียวกับวันที่ 26 -27 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายอภิรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า ทางศูนย์ยังจะได้ประสานไปยังจังหวัดให้เร่งจัดส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่จะได้รับเงิน ครัวเรือนละ 5,000 บาท

ในพื้นที่ 38 จังหวัด ภาคกลาง และอีสาน และ 12 จังหวัดภาคใต้ มายัง ปภ. ภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ เพื่อจะได้ดำเนินการเร่งรัดตรวจสอบรายชื่อ โดยคาดว่า จะสามารถจ่ายเงินให้กับประชาชนได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ ทั้งยังจะได้ประสานแต่ละจังหวัด เพื่อสำรวจ และพิจารณาฟื้นฟูภายหลังน้ำลด โดยเบื้องต้น ทางรัฐบาลจะเข้าไปฟื้นฟูใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ สระบุรี และนครราชสีมา ทั้งนี้ ทาง คอช.จะหารือมาตรการฟื้นฟู ในวันจันทร์ที่ 8 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ 52 อำเภอ 9 จังหวัด บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีน้ำท่วมขังมากว่า 3 สัปดาห์ ว่า จะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างไร

นายอภิรักษ์ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับเงินช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนนั้น นายกฯ พูดชัดเจนว่า จะเป็นการใช้งบกลางประมาณ 20,000 ล้านบาท

และจะมีการปรับงบในส่วนของโครงการไทยเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมาย เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัย ซึ่งคาดการณ์ว่า พื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหายประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องรอการสำรวจจากทางกระทรวงเกษตรฯ ก่อน แต่ได้ย้ำว่าพื้นที่ไหนที่สำรวจแล้วเสร็จ ก็ให้ส่งเรื่องมาดำเนินการเลยได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เสร็จในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลยังไม่มีการหารือว่าจะมีการนำเงินคงคลังมาใช้ในเรื่องนี้ และเชื่อว่างบกลางกับงบโครงการไทยเข้มแข็งยังอยู่ในวิสัยที่ดำเนินการได้ ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังยังได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ ไว้ในการฟื้นฟูอีกด้วย.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์