ศชอ.เตือนเมืองคอนเสี่ยงดินถล่ม สั่งอพยพชาวร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์-ยโสธร ก่อนน้ำชีเคลื่อนเข้า


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) แถลงสถานการณ์อุทกภัยประจำวันว่า ปัจจุบันเหลือพื้นที่ประสบภัยอุทกภัยรวม 30 จังหวัด 200 อำเภอ 1,350 ตำบล 8,766 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 745,853 ครัวเรือน 2,39,441 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 150 คน โดยภาคใต้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 34 คน ส่วนอีก 116 คนที่เหลืออยู่ในพื้นที่ภาคอื่นๆ สำหรับจังหวัดที่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้มี 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ. สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เนื่องจากยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะจ. นครศรีธรรมราชเสี่ยงต่อการเกิดเหตุดินถล่มเพิ่มเติม


นายอภิรักษ์กล่าวต่อว่า ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน ขณะนี้ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลสูงสุดอยู่ที่อ. ราศีไศล จ. ศีรสะเกษ โดยล้นตลิ่งอยู่ 1.55 เมตร ทำให้ประชาชั่น 2 ฝั่งแม่น้ำได้รับความเดือดร้อน แต่น้ำจากลำน้ำมูลจะเคลื่อนเข้าสู่จ. อุบลราชธานีในวันที่ 7 พฤศจิกายน คาดว่าจะล้นตลิ่งประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนน้ำในลำนำชีวัดปริมาณสูงสุดได้ที่อ. โกสุมพิสัย จ. มหาสารคาม ที่ระดับ 1.5 เมตร ก่อนเคลื่อนเข้าสู่จ. ร้อยเอ็ดต่อไป

ทั้งนี้จ. ร้อยเอ็ดมีพื้นที่ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ ทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมาก ศชอ. จึงประสานงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่วนหน้าและจังหวัดให้เร่งอพยพประชาชนในจ. ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และยโสธรออกนอกพื้นที่แล้ว ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องเฝ้าระวังเพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งในวันที่ 7-8 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจทำให้น้ำล้นตลิ่งบางพื้นที่ อาทิ จ. ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ในบริเวณที่ไม่มีเขื่อนกั้น

ผู้อำนวยการศชอ. กล่าวต่อว่า ในวันที่ 8 พฤศจิกายน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมคชอ. เพื่อติดตามความคืบหน้าในการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชาชน 6.3 แสนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 5 พันบาท/ครัวเรือน โดยให้ปภ. รวบรวมรายชื่อทั้งหมดให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 พฤศจิกายน เพื่อให้เงินช่วยเหลือถึงมือประชาชนภายในเดือนพฤศจิกายน แต่ในส่วนของผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ คชอ. ได้สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายใน 12 จังหวัดแล้ว แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังวุ่นวาย คาดว่าเมื่อมีความพร้อมก็จะทยอยรวบรวมข้อมูลเพื่อขออนุมัติครม. ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 5 พันบาท/ครัวเรือนต่อไป


นายอภิรักษ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องดึงเงินคงคลังออกมาใช้ช่วยเหลือผู้อุทกประสบภัยตามแนวคิดของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพราะนโยบายที่ได้จากนายกฯ คือให้ใช้งบกลาง และให้ส่วนราชการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปกติ ซึ่ง 2 ส่วนนี้ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้ นอกจากนี้จะมีการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาชนในการเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัย ซึ่งเชื่อว่าจะลดงบประมาณภาครัฐได้มาก อย่างไรก็ตามจนขณะนี้ยังไม่มีโอกาสหารือกับนายไตรรงค์ จึงไม่ทราบที่มาของแนวคิดดังกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์