ปธ.วุฒิชี้ช่องสรรหาผู้ว่าสตง.ได้

ปธ.วุฒิ เผย คตง.ยกร่างกม.ใหม่คาด 1-2 สัปดาห์ส่งเข้าสภาได้ ชี้ อาจสรรหาผู้ว่าสตง.ได้ก่อน เพราะประกาศ คปค.ยกเลิกคุณสมบัติ คตง. เพียงส่วนเดียว...

ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการนัดประชุมคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(ผู้ว่าการฯสตง.) เพื่อเริ่มเดินหน้ากระบวนการสรรหาฯว่า ยังคงมีปัญหาติดขัดอยู่เดิมได้นัดประชุมวันที่ 16 ก.ย. แต่กรรมการฯหลายคนติดภารกิจจึงต้องเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้า โดยกำลังหาวันว่างพร้อมกันอยู่ ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติคว่ำร่างนั้น ขณะนี้ทราบเป็นการภายในว่า คตง.กำลังร่างกฎหมายฉบับใหม่อยู่ โดยได้ประสานขอข้อสังเกตที่ทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาท้วงติง เช่น อำนาจหน้าที่ที่อาจไปทับซ้อนกับอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะทำร่างเสร็จและเสนอมายังสภาผู้แทนราษฎรได้

ด้าน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเคยทำหนังสือชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการสรรหาฯมีมติ 3 ครั้งว่า ไม่สามารถเริ่มกระบวนการสรรหาได้ เพราะกฎหมายเดิมฉบับปี 2542 ในส่วนที่ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามถูกยกเลิกโดยประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 จึงจำเป็นต้องรอให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก่อน นายประสพสุข กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาฯจึงต้องมาประชุมกันเพื่อยืนยันว่าจะให้เป็นไปอย่างไร เพราะมีนักกฎหมายบางส่วนเคยออกมาบอกว่าประกาศ คปค.ฉบับ 29 ยกเลิกคุณสมบัติในส่วน คตง. แต่ในส่วนผู้ว่าการสตง.ไม่ได้ยกเลิก จึงน่าจะสรรหาผู้ว่าการสตง.ได้ หรือบางคนบอกกระทั่งว่าเมื่อยกเลิกไม่กำหนดคุณสมบัติก็เท่ากับใครก็มาสมัครได้ ฉะนั้นคณะกรรมการสรรหาฯต้องมาประชุมอย่างจริงจังว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งวิธีการสรรหาใช้ตามรัฐธรรมนูญ 50 แต่ในส่วนคุณสมบัติยังมีปัญหาว่า จะใช้กฎหมายเก่าได้หรือไม่ ถ้าทำส่วนใดได้ก็เริ่ม ถ้าทำไม่ได้เพราะต้องรอกฎหมายใหม่ ทุกคนจะได้จบ หมดข้อสงสัย

ด้าน กรรมการสรรหาผู้ว่าการ สตง.รายหนึ่งเปิดเผยว่า หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติคว่ำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาฯยากลำบากมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาฯเคยมีมติยืนยันมาตลอด ว่าต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ก่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ได้เปลี่ยนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเข้ารับการสรรใหม่ รวมถึงวิธีการสรรหา ทำให้ไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2542 ได้ ดังนั้นหากจะให้คณะกรรมการสรรหาฯกลับมติอีก จะทำให้ถูกมองว่าไม่มีมาตรฐานในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ทั้งที่กรรมการสรรหาแต่ละคนประกอบด้วย ประธาน 3 ศาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการอีก 2 คน ซึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด คัดเลือกมา จึงเป็นไปได้ว่าอาจต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ก่อน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์