พบพิษอื้อผลไม้ดอง ฝรั่งหนักสุดปนสารเคมี ไม่สะอาด-ทำท้องเสีย!

เตือนภัยผลไม้รถเข็น รมต.องอาจจับมือกทม.ส่งเจ้าหน้าที่เข้ากวดขัน

หลังตรวจพบทั้งจุลินทรีย์ สารกันราและสีสังเคราะห์อยู่ในผลไม้รถเข็นเพียบ ขีดเส้นให้เวลา 1 เดือนในการปรับปรุงแก้ไขก่อนลุยจับปรับตาม พ.ร.บ.อาหารฯ เผยเริ่มลุกหนักในกรุงเทพฯ ก่อนกระจายตรวจในภูมิภาคต่อไป

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

พร้อมด้วย พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมแถลงข่าวผลการทดสอบความไม่ปลอดภัยในผลไม้รถเข็น ภายหลัง สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเรื่องความปลอดภัยในอาหารเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลไม้รถเข็นที่มีขายทั่วไป ทั้งนี้ สคบ.ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ ม.เกษตร ศาสตร์ และม.สยาม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลไม้จากแหล่งจำหน่าย 38 ร้านในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ความไม่ปลอดภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยใช้ชุดทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร (เทสต์คิต) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบหายาฆ่าแมลงในอาหาร ทดสอบกรดซาลิซิลิกหรือสารกันราในอาหาร ชุดทดสอบสีสังเคราะห์ในอาหาร และชุดทดสอบโคลิฟอร์ม (เชื้อจุลินทรีย์) ในอาหาร

นายองอาจ กล่าวว่า จากผลการทดสอบพบว่าผลไม้ 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึงร้อยละ 67.3 อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์มากถึงร้อยละ 16.3 ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่าง และพบการปนเปื้อนของสารกันรา ร้อยละ 40.7 ในขณะที่ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในผลไม้สดแต่อย่างใด ส่วนผลไม้แปรรูปจำพวกของดอง พบการปนเปื้อนหรือเจือปนของสีสังเคราะห์ สารเคมีและสารกันราที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงร้อยละ 64.2 จากฝรั่งดองบ๊วยที่มีสีเขียวสดใส สีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนเกือบม่วง

นายองอาจ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะขอความร่วมมือ กทม.จัดส่งเจ้าหน้าที่ของแต่ละสำนักงานเขต ลงพื้นที่รณรงค์สร้างความเข้าใจและให้ความรู้ผู้ผลิตและจำหน่าย

เพื่อให้ได้รับทราบถึงพิษภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงแก้ไข 1 เดือนก่อนที่จะมีการติดตามผล รวมทั้งผลการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ของประชาชน ซึ่งหากเลยกำหนดโดยที่ผู้ประกอบการยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆ จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายต่อไป โดยจะลงโทษตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงควรมีสุขลักษณะที่ดีตั้งแต่การเตรียมผลไม้ ภาชนะบรรจุและการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ภายในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ คาดว่าจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ก่อนสร้างกระแสความตื่นตัวขยายไปยังส่วนภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์