ยังไม่มีข้อสรุปห้ามใช้มือถือ“บีบี”ทวิตเตอร์ ขู่รัฐ

วันนี้ 20 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณี พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

นำประเด็นองค์กรกำกับกทช.ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ระงับการให้บริการรับส่งข้อความและการเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอร์รี่(บีบี) ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เพราะการส่งข้อความในเครื่องแบล็คเบอร์รี่มีระบบจัดส่งข้อมูลอัตโนมัติจากผู้ใช้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท รีเสิร์ช อินโมชั่น จำกัด หรือ ริม (RIM) ผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแบล็คเบอร์รี่ที่ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้หากมีการกระทำความผิด เสนอที่ประชุมคณะกรรมการกทช. เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมจึงมีมติให้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ว่าข้อมูลที่ส่งถึงกันระหว่างผู้ใช้แบล็คเบอร์รี่จะเข้าข่ายผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ในส่วนของการเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ 90 วัน (ล็อกไฟล์) หรือไม่

นายอารีย์ จิวรรักษ์ ผอ.สำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า

เซิร์ฟเวอร์ของริม ตั้งอยู่ที่แคนาดา ซึ่งอำนาจของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 ไม่ครอบคลุม และปัจจุบันเว็บไซต์ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้งานก็มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ที่ต่างประเทศกว่า 90% ซึ่งอำนาจของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 สามารถเรียกดูข้อมูลได้เฉพาะเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

แต่กรณีแบล็คเบอร์รี่ หากเกิดกรณีร้องเรียน สามารถขอข้อมูลผ่านตัวแทนที่นำเข้าแบล็คเบอร์รี่

ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  หรือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เพื่อเป็นผู้ประสานขอข้อมูลไปยังริม อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่พูดทางโทรศัพท์ ผู้ให้บริการเครือข่าย อาทิ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ต้องขอข้อมูลไปทางริมว่าได้อัดเสียงไว้หรือไม่ ซึ่งจุดนี้ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงหรือไม่ ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้าน นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส  กล่าวว่า

กรณีนี้เป็นประเด็นที่ภาครัฐกังวลกับรูปแบบบริการ และเทคโนโลยีของริมผู้ให้บริการแบล็กเบอร์รี่ทั่วโลก  สำหรับเอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีดังกล่าว หากนโยบายภาครัฐมีข้อสรุปอย่างไร เอไอเอสก็ยินดีปฏิบัติตาม

สำหรับความเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้ใช้แบล็คเบอร์รี่ ทันทีที่มีข่าวเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต บรรดาผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

โปรแกรมสนทนาทวิตเตอร์ ต่างวิจารณ์แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง มีทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยบนพื้นฐานความรู้สึก และการนำข้อคิดทางกฎหมายมาโต้แย้ง  เช่นมีข้อเสนอว่า ควรต้องเจรจากับ ริมไม่ใช่การห้ามใช้ และรัฐต้องจัดระเบียบการใช้  ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนในวงการธุรกิจมีจำนวนมาก  บางรายเสนอความเห็นว่าควรเป็นการเจรจาโดยรัฐกับริม  และวัยรุ่นบางราย ขู่ว่า ถ้ารัฐบาลอยากได้คะแนนเสียงสมัยหน้าก็ห้ามแบน.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์