วิตกตายพุ่ง!รณรงค์จยย.กันน็อกเด็ก

ตร.จับมือ สสส.รณรงค์ปลูกฝังวินัยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จากสถิติอุบัติเหตุบนถนน 5 ปีที่ผ่านมา

รถ จยย.มีอัตราเกิดอุบัติเหตุถึง 3 ใน 4 ของผู้ประสบเหตุทั้งหมด และศีรษะเป็นจุดที่ทำให้ผู้ขับขี่บาดเจ็บมากที่สุด พบต่างจังหวัดผู้ปกครองพาลูกหลานซ้อนท้ายสวมหมวกกันน็อกแต่บุตรหลานกลับไม่ใส่ เพิ่มมาตรการเชิงรุกบุกปลูกจิตสำนึกถึงในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพราะเด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่พบว่าเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ส่วนมาตรการจัดทำหมวกกันน็อกสำหรับเด็กผ่าน ครม.แล้ว แต่ยังหาเจ้าภาพไม่เจอ

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. พล.ต.ท. เอก อังสนานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า

จากที่ได้ร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. เกี่ยวกับสถานการณ์อุบัติเหตุในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2547-2552 พบว่า 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นรถจักรยานยนต์ และครึ่งหนึ่งของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่บาดเจ็บรุนแรงเกิดที่ศีรษะ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสวมหมวกนิรภัยในเกณฑ์ ที่ต่ำมากคือ ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 14 ผู้นั่งซ้อน ท้ายสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 4.7 เด็กและวัยรุ่นสวมหมวกนิรภัยในอัตราต่ำกว่าผู้ใหญ่

พล.ต.ท.เอกกล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจบนท้องถนนช่วงกลางวันเด็กสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 12 วัยรุ่นสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 52 ผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 33

และการสำรวจข้อมูลจากโรงพยาบาล 12 แห่ง ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 1,200 ราย พบว่าสถานการณ์ผู้ บาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์กว่าร้อยละ 80 ไม่ สวมหมวกนิรภัย จากข้อมูลอุบัติเหตุดังกล่าวผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะเกิดเหตุจะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ และเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

"เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่พบว่า  ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัยเพราะเดินทางไม่ไกล หรืออยู่ในเขตโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย หรือหมู่บ้าน  คิดเป็นร้อยละ 81.2 รองลงมาคือ รำคาญ ผมเสียทรง คิดเป็นร้อยละ 8.8 และพบว่าไม่สวมหมวกนิรภัยเพราะเมาร้อยละ 1.6 มาตรการหรือการดำเนินการจัดทำหมวกนิรภัย ครม.เห็นถึงความสำคัญของปัญหา มีมติควรให้มีมาตรการหรือดำเนินการจัดทำหมวกนิรภัยที่เหมาะสมสำหรับเด็ก โดยรัฐอาจให้การสนับสนุนสถานประกอบการจัดทำเพื่อแจกฟรีหรือจำหน่ายราคาถูก แต่มติดังกล่าวไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ" พล.ต.ท.เอกกล่าว

พล.ต.ท.เอกกล่าวด้วยว่า แต่ละปีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก

พบว่าผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ขาดวินัยจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก  ส่วนใหญ่ผู้ประสบอุบัติเหตุไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 78.9 ขณะที่บุคคลเหล่านี้อยู่ในประเทศตัวเองกลับสวมหมวกนิรภัยตามกฎหมาย  ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดที่เห็นเป็นประจำ พ่อแม่ผู้ปกครองขี่รถจักรยานยนต์รับส่งบุตรหลานไปโรงเรียนจะสวมหมวกกันน็อกแต่บุตรหลานกลับไม่ได้สวม ทั้งที่ควรสวมหมวกให้เด็กก่อน จะใช้การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักเรียนระดับอนุบาล  ประถม มัธยม และนักศึกษาตามสถานศึกษาทุกวัน กระตุ้นให้เด็กนักเรียนทุกระดับรู้จักรักษากฎจราจร ตักเตือนบิดามารดาหรือผู้ปกครองให้สวมหมวกกันน็อกตัวเองและบุตรหลานโดยมีจิตสำนึกไม่ต้องบังคับ โดยไม่ต้องได้ยินคำว่า "พ่อจ๋าสวมหมวกกันน็อกให้หนูด้วย"


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์