วิกฤตควายไทย ใกล้สูญพันธุ์ จากเคยมีมากสุดในโลก เหลือเพียงแค่ล้านกว่าตัว

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณควายในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต

เนื่องจากพบว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนลดลงอย่างมาก เหลือประมาณ 1 ล้านตัวเศษจากที่เคยมีจำนวนประชากรควายมากที่สุดในโลก ในปี 2523 คือประมาณ 6 ล้านตัว ทว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐอย่างไร้ทิศทาง ทำให้ประชากรควายลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันควายไทยมีเหลือประมาณ 1.3 ล้านตัว ในขณะที่ปัจจุบันประชากรควายที่ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มีจำนวนใกล้เคียงถึงมากกว่าประเทศไทยแล้วคือ มาเลเซีย 2 แสนตัว กัมพูชา 8.4 แสนตัว ลาว 1.4 ล้านตัว พม่า 1.8 ล้านตัว เวียดนาม 2.2 ล้านตัว และอินโดนีเซีย 2.8 ล้านตัว
   

สำหรับสาเหตุที่ปริมาณควายไทยลดลงก็เนื่องมาจาก ความนิยมในปัจจุบัน

เปลี่ยนจากการใช้แรงงานควายมาเป็นการใช้เครื่องจักรในการทำนา นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้ประชากร "ควายไทย" ลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ คือ คนไทยกินเนื้อควายกันมาก โดยเฉพาะคนไทยในภาคเหนือและอีสานบางส่วน โดยอาหารที่โปรดปรานของคนไทยบางกลุ่ม คือตัวอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ควาย


อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เตรียมพัฒนาควายพื้นเมืองให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา

เพื่อให้ควายเป็นสัตว์ที่ช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นแรงงานที่ยั่งยืนของชาวชนบทและคนไทย นอกจากนี้ได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อลดการบริโภคเนื้อควายลง
อย่างไรก็ตาม จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใยชาวนาไทยที่ประสบความยากจนจากการประกอบอาชีพการทำนา อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทรงอยากให้ชาวนาไทยกลับมาใช้ควายในการทำนา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้น้อมรับและสนองพระราชดำริดังกล่าว โดยในปี 2552 ได้จัดทำ "โครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนาตามพระราชดำริ" ขึ้นเพื่อรณรงค์ส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวนาฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี และเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานเสริมให้เกษตรกรแต่ละชุมชนรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมจัดหาควายมาให้เลี้ยงรายละ 2-3 ตัว

โดยกรมปศุสัตว์จะให้ยืมควายจากธนาคาร โค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ (ธคก.) ขณะที่กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไว้ให้เกษตรกรผู้ยืมซื้อควาย จากนั้นจะเร่งฝึกอบรมวิธีการเลี้ยงควายให้เกษตรกร เพื่อให้ใช้งานได้จริงคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพการทำนาโดยใช้แรงงานควาย ครอบคลุมพื้นที่ 3,410 ไร่ สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไร่ละ 132 บาท คิดเป็นเงิน 4.5 แสนบาท/ปี ลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยเคมีโดยสามารถผลิตปุ๋ยคอกได้ปีละ 1,236 ตัน คิดเป็นมูลค่าปีละ 1.1 ล้านบาท โดยจัดโครงการนำร่องทั่วประเทศ 12 จังหวัด และในปี 2553 จะเร่งดำเนินการขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์