โวยซ่อมมั่ว กำแพงพระนารายณ์สิ้นรูปสมบัติโบราณ

โวย"กรมศิลป์"บูรณะกำแพงพระนารายณ์ฯ จ.ลพบุรี ไม่คำนึงถึงหลักวิชาการ ประธานชมรมอนุรักษ์ฯ แฉสกัดปูนเก่าลวดลายดั้งเดิมออกหมด ทุบและโบกปูนทับเหมือนสร้างใหม่ เผยทำหนังสือคัดค้านหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล ด้านรองอธิบดีกรมศิลป์โต้กลับ ชี้แจงละเอียดยิบ ยืนยันบูรณะถูกต้องตามหลักการ
   
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี

เปิดเผยกรณีสำนักศิลปากรที่ 4 ทำการบูรณะกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.ลพบุรี อายุ 344 ปี ว่า การบูรณะดังกล่าว ไม่คำนึงถึงหลักวิชาการในการอนุรักษ์โบราณสถาน คือมีการ   สกัดปูนเก่าลวดลายดั้งเดิมออกทั้งหมด ทุบและโบกปูนสีขาวเกลี้ยงทับเสมือนสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งทางชมรมเห็นว่า กำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ มีคุณค่าด้วยความเป็นโบราณสถานร้าง ดังนั้นการบูรณะควรเป็นแบบรักษาคุณค่าความเก่าแก่มากกว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยการโบกปูนทับ จึงยื่นหนังสือคัดค้านไปหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ เพราะกรมศิลปากรยืนยันว่าบูรณะอย่างถูกต้องแล้ว ตนจึงเห็นว่าเป็นการบูรณะโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากภาคประชาชน
   
นายภูธรยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางชมรมได้ต่อสู้มาจนถึงที่สุดแล้ว

ทั้งส่งหนังสือไปยัง รมว.วัฒนธรรม, อธิบดีกรมศิลปากร, ผอ.  สำนักกรมศิลปากรที่ 4 และคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีผลต่อการหยุดยั้ง จากนี้ไปจะไม่ดำเนินการใด ๆ อีก เพราะถือว่าสายเกินไปที่จะหยุดการบูรณะซึ่งแล้วเสร็จไปกว่า 80% ทั้งนี้ นายภูธรยังเรียกการกระทำดังกล่าวว่าความอัปยศใหม่ ไม่ใช่การ บูรณะใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องการบูรณะที่ทำกันอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้งบประมาณ พร้อมติติงเรื่องมุมมองการบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร และตั้งคำถามถึงปัญหาด้านจรรยาบรรณทางวิชาชีพ รวมทั้งยกกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนประชาชนว่าอย่าวางใจการบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ และต้องช่วยกันรักและหวงแหนมรดกของประเทศ  พร้อมกันนี้ ได้ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม
    
ทางด้าน นายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่า การบูรณะนั้นเป็นไปตามหลักการและถูกต้อง

เพราะภายในกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์มีพิพิธภัณฑ์ จึงจัดว่าเป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต หรือมีประโยชน์ใช้สอยอยู่ การบูรณะจึงต้องทำให้เกิดความมั่นคง แข็งแรงตามหลักฐานที่ปรากฏ ก่อนเริ่มบูรณะได้มีการศึกษารูปแบบ เทคนิค วิธีการสร้าง พร้อมทั้งศึกษาประวัติความเป็นมา จึงทราบว่าโบราณสถานแห่งนี้ได้ถูกซ่อมแซมและบูรณะมาแล้วหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และมีการใช้ปูนซีเมนต์ในการบูรณะกว่า 70% ซึ่งตามหลักการแล้วปูนซีเมนต์ไม่ควรนำมาบูรณะโบราณสถาน เพราะก่อให้เกิดความเค็มและผุกร่อนได้ง่าย จึงต้องมีการสกัดปูนฉาบเก่านั้นออกให้หมด และฉาบด้วยปูนหมักที่มีส่วนผสมของซีเมนต์ กระดาษสา และทราย เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาการผุกร่อน.
 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์