ผู้โดยสารอ้วกบีทีเอสขึ้น5บาท

อ้างทำ7ปีขาดทุนเริ่มบังคับใช้1ธ.ค.


ผู้โดยสารอ้วกอีก รถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศปรับขึ้นราคาค่าโดยสารอีก 5 บาท จากเดิม 10-40 บาท ราคาใหม่จะเริ่มต้น 15-40 บาท เริ่มใช้ 1 ธ.ค.นี้ อ้างทำมา 7 ปี ขาดทุนตลอดเนื่องจากน้ำมันแพง จนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงไม่ไหว เผยปัจจุบันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายปีละ 1 พันล้านบาท ระบุเป็นการขึ้นราคาครั้งแรก ด้านขสมก.ยืนยันไม่คิดจะขึ้นราคาตามบีทีเอส มั่นใจจะมีลูกค้าหันมาใช้บริการขสมก.มากขึ้น

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายอาณัติ อาภาภิรม ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสเตรียมปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2549 เป็นต้นไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นร้อยละ 30 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทมีการปรับราคาค่าโดยสารใหม่ ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการมาถึง 7 ปี

"ขั้นต่ำ 15 บาท"


นายอาณัติกล่าวต่อว่า อัตราค่าโดยสารใหม่ขั้นต่ำ เริ่มต้นที่ราคา 15 บาท จนถึง 40 บาท เปลี่ยนแปลงจากเดิม เริ่มต้นที่ 10 บาท จนถึง 40 บาท โดยที่อัตราค่าโดยสารใหม่จะเริ่มจากสถานีแรกราคา 15 บาท สำหรับสถานีถัดไปทุกๆ 2 สถานี อัตราค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้น 5 บาท จนถึงสถานีที่ 10 ขึ้นไป อัตราค่าโดยสารจะคงที่ในราคา 40 บาท ไปจนสิ้นสุดระยะทาง การปรับเปลี่ยนอัตราค่าโดยสารนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารที่เดินทางในระยะไกล และราคาค่าโดยสารใหม่นี้ไม่เกินเพดานค่าโดยสารที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มเปิดให้บริการในปี 2542

นายอาณัติกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม บีทีเอสยังได้ออกบัตรโดยสารประเภท 30 วัน 30 เที่ยว สำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 600 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา ราคา 450 บาท และบัตรโดยสารประเภท 30 วัน 20 เที่ยว สำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 440 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา ราคา 340 บาท ส่วนบัตรโดยสารประเภท 1 วัน ในราคาเพียง 120 บาท ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวเช่นเดิม เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย

"ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี"


นายอาณัติกล่าวด้วยว่า การที่บีทีเอสปรับขึ้นราคาค่าโดยสารดังกล่าวนั้นเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปีหลังจากเปิดเดินรถ ซึ่งไม่ได้เกินกว่าเพดานที่กทม.กำหนด และจะไม่มีผลกระทบต่อการใช้บริการของผู้โดยสารที่เดินทางระยะไกล และผู้ที่ซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้า แต่จะมีผลต่อผู้โดยสารที่เดินทางในระยะใกล้ที่เดินทางระยะสั้น

"หากเทียบกับการขึ้นค่าโดยสารของรถสาธารณะอื่นๆ เราขึ้นเพียง 10% ถือว่าน้อยมาก และทำให้ค่าโดยสารเฉลี่ยตลอดเส้นทางของบีทีเอสเพิ่มขึ้นจาก 21 บาท เป็น 23 บาท ส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้น 10% จากวันละ 9 ล้านบาท เป็น 10.5 ล้านบาท ถือว่าไม่มาก เพราะที่ผ่านมา บีทีเอสมีภาระค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของเงินเดือน ค่าซ่อมบำรุงต่างๆ สูงเพิ่มขึ้น 35% จากวันละ 3 ล้านบาท แต่ปัจจุบันภาระเป็น 3.3-3.4 ล้านบาทต่อวัน หรือปีละ 1,000 ล้านบาท" นายอาณัติกล่าว

"เป็นสิทธิที่ทำได้ตามภาวะตลาด"


ด้านนายโอภาส เพชรมุณี รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า หลังจากบีทีเอสขึ้นราคาค่าโดยสารขั้นต่ำอีก 5 บาท ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้นั้น ยอมรับว่าทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นราคาดังกล่าวนั้นถือเป็นสิทธิของบีทีเอสที่จะพิจารณาปรับขึ้นตามภาวะตลาด แต่ในส่วนของขสมก.นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันลดลงแล้ว

นายโอภาสกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เห็นว่าหลังจากบีทีเอสขึ้นราคาค่าโดยสารจะส่งผลให้ผู้โดยสารบางส่วนหันมาใช้บริการรถบริการสาธารณะของขสมก.มากขึ้น ซึ่งขสมก.มีนโยบายกำชับให้พนักงานให้บริการผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์