ทะเลหนุนสูงสุด กทม.รับมือวันนี้

"ไม่ประมาท"


หลายฝ่ายยังคงเฝ้าติดตามดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แม้ว่าเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ทะเลหนุนวันแรก ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2.02 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้ แต่เพื่อความ ไม่ประมาท นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.สั่งให้ ตรวจสอบความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำ รวมทั้งเร่งให้การช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำ เนื่องจาก ช่วงวันที่ 24-25 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอีก

ผู้ว่าฯกทม.ลุยตรวจเจ้าพระยา

เมื่อเวลา 08.20 น. วันที่ 24 ต.ค. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยนางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม. ลงเรือบริเวณท่าน้ำสะพานพระปิ่นเกล้าตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อยพร้อมทั้งแวะเยี่ยมเยียนชาวบ้านริมคลอง เช่นชุมชนสันติชนสงเคราะห์และชุมชนปลายซอยจรัญสนิทวงศ์ 47 โดยนายอภิรักษ์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,625 ลบ.ม./วินาที วัดระดับได้ 2.17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ในภาวะที่ กทม.รับไหว แต่ในวันที่ 25 ต.ค.ระดับน้ำจะสูง 2.22 เมตร อันเป็นผลจากน้ำทะเลหนุน จำเป็นต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ตะวันตก เช่น บางขุนเทียน บางบอน ตลิ่งชัน และทวีวัฒนา ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกระดับน้ำในคลองหลักๆ เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองหลวงแพ่ง เริ่มลดลงเล็กน้อย

จับตา 25 ต.ค.น้ำเพิ่มขึ้นอีก


จากนั้นในช่วงสาย นายอภิรักษ์เรียกประชุมคณะผู้บริหารเพื่อเน้นย้ำการป้องกันน้ำท่วมในวันที่ 25 ต.ค.ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอีก โดยนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ รอง ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. ได้รายงานว่า กรมชลประทานได้ผันน้ำเข้าทุ่งทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกครอบคลุมพื้นที่ 1.38 ล้านไร่ ปริมาณ 519 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใน กทม. ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกได้เร่งระบายน้ำลงคลองด่านจนระดับน้ำเริ่มลดลง แยกเป็นที่คลองประชาชนร่วมใจ คลองแสนแสบ ระดับน้ำกลับเข้าสู่สภาวะปกติที่ 1.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้พื้นที่ในเขตคลองสามวา ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง ส่วนคลองประเวศบุรีรมย์เหลือ 0.78 เมตร หากฝนไม่ตกซ้ำคาดว่าภายในวันที่ 31 ต.ค. จะระบายน้ำลดลงเหลือ 0.65 เมตร ซึ่งเป็นระดับปกติ

เผยเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบปี

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ตระเวนดูสภาพพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพฯ โดยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ถือเป็นสถิติสูงในรอบปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าเมื่อปี 2538 ที่สูงถึง 2.27 เมตร โดยที่ท่าเรือวัดราชาธิวาส น้ำสูงขึ้นอีกราว 25 ซม. ขณะที่ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ และหลังวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต ระดับน้ำสูงปริ่มสะพานไม้ที่ กทม.สร้างไว้ เช่นเดียวกับย่านท่าน้ำสุรวงศ์ น้ำขึ้นระดับฟุตปาท ส่วนบริเวณท่าเรือคลองสานยังคงมีประชาชนไปใช้บริการข้ามฟากตามปกติ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากต้องปีนขึ้นไปบนสะพานไม้ที่สร้างไว้

ชุมชนวัดภคินีนาถอ่วมหนัก


สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากคือชุมชนวัดภคินีนาถ เขตบางพลัด เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวน 43 ครอบครัว ซึ่งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเดือดร้อนไปตามๆกันเนื่องจากไม่สามารถหุงหาอาหารรับประทานได้ โดยนายวัชรา พรหมเจริญ ผอ. เขตบางพลัด ต้องนำอาหารเข้าไปแจกให้ทั้ง 3 มื้อ พร้อมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ ทั้งนี้ นายวัชรากล่าวว่า ทางเขตจะทำอาหารมาแจกจนกว่าระดับน้ำจะแห้ง

เมืองนนท์จมทะลัก 200 หลัง

ส่วนเขตปริมณฑลซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนเช่นเดียวกัน โดยที่ จ.นนทบุรี ช่วงเช้าตรู่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงจนเอ่อล้นท่วมชุมชนใกล้เชิงสะพานพระราม 5 ถนนนครอินทร์ หมู่ 2 ต.บางไผ่ อ.เมืองนนทบุรี ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 200 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเดิม อบต.บางไผ่ นำกระสอบทรายมาวางบนคันดินกั้นน้ำไว้แค่ 1.60 เมตร ส่งผลให้บ้านบางหลังถูกน้ำทะลักสูงประมาณ 1.50 เมตร นายวัชรินทร์ โรจนพานิช นายอำเภอเมืองนนทบุรี ต้องระดมรถแบ็กโฮมาเสริมคันดินและเพิ่มแนวกระสอบให้สูงขึ้น พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำออกใช้เวลากว่า 6 ชม.จึงกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ซ่อม จยย.-เครื่องมือเกษตรฟรี


ที่ จ.ปทุมธานี ชาวบ้านใน อ.สามโคก ที่อาศัยอยู่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ต้องขนของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก บางคนต้องหาอุปกรณ์มาวิดน้ำออกจากบ้านเท่าที่จะหาได้ ขณะเดียวกันนายสมชาติ เทวะวโรดม ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รอง ผวจ.ปทุมธานี ได้ตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยบริเวณวัดปทุมทอง หมู่ 1 ต.บ้านปทุม อ.สามโคก จากนั้นนายสมชาติเปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังแล้ว ชาวบ้านส่วนมากได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างที่จำเป็นเสียหาย เช่น รถ จยย. เครื่องมือการเกษตร เป็นต้น กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมกับจังหวัดปทุมธานี จัดงบบูรณาการจำนวน 2 แสนบาทเพื่อซ่อมแซมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ตลาดปากน้ำโพคลี่คลายแล้ว

สำหรับจังหวัดอื่นๆ ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบนและภาคกลางก็ยังเผชิญกับน้ำท่วม ที่ จ.นครสวรรค์ จุดที่แม่น้ำหลายฝ่ายไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดช่วงเช้าระดับน้ำต่ำกว่าคันกั้นน้ำหน้าตลาดปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ ประมาณ 29 ซม. ขณะที่ช่วงบ่าย นางน้อย เผือกชื่น อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 7 ต.เกรียงไกร อ.เมืองนครสวรรค์ เกิดอาการเครียดถึงขั้นช็อกหมดสติ หลังต้องนั่งอยู่บนบ้านที่น้ำท่วมขังมานานเกือบ 1 เดือน ญาติต้องขอความช่วยเหลือจาก อบต.เกรียงไกร จัดเรือเร็วนำส่ง รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เป็นการด่วน

เรือคณะแพทย์ล่มหวิดจมสยอง


ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 09.00 น. นายแพทย์สมทรง นิลประยูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอชุมแสง จ.นครสวรรค์ นำคณะพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวม 8 คน นำยาและเวชภัณฑ์ใส่เรือไปเปิดบริการให้กับประชาชนที่ศาลาวัดคลองปลากดนอก หมู่ 1 ต.พันลาน อ.ชุมแสง ซึ่งถูกน้ำท่วมจำนวน 306 คน กระทั่งเดินทางกลับขณะล่องเรือมาตามถนนสายนครสวรรค์-ชุมแสง หมู่ 6 ต.พันลาน อ.ชุมแสง เรือเกิดชนเสาหลัก กม. ข้างถนนเป็นเหตุให้เสียหลักล่ม เคราะห์ดีที่มีน้ำลึกประมาณ 1.20 เมตร เลยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

อาศัยศาลาริมทางนอนกับสุนัข

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ได้จัดทีมแพทย์ลงตรวจสุขภาพชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยใน อ.เมืองอุทัยธานี หลังประชาชนเริ่มป่วยเป็นโรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า ตาแดง ไข้หวัด อาหารเป็นพิษ และโรคฉี่หนู โดยในช่วงที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่รับการตรวจรักษาแล้ว 7,200 ราย ในจำนวนนี้เป็นโรคฉี่หนู 7 ราย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านหมู่ 6 ต.หาดทะนง อ.เมืองอุทัยธานี แม้ว่าจะถูกน้ำท่วมอย่างหนักเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ยอมทิ้งบ้านไปอยู่บนที่พักชั่วคราวที่ทางราชการจัดให้ เพราะกลัวขโมยบุกขึ้นบ้าน เลยอาศัยศาลาที่พักริมทางใกล้บ้านเป็นที่หลับนอนร่วมกับสุนัขตามยถากรรม

สิงห์บุรีสังเวยน้ำเพิ่มอีก 3 ศพ


ที่ จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำยังทรงตัว ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอีก 3 ศพ รายแรก นายประทีป สโมสรสุข อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ 8 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมืองสิงห์บุรี ได้พยายามกลิ้งโอ่งใบใหญ่ในบ้านที่มีน้ำท่วมเพื่อนำไม้มาพาดวางของหนีน้ำ แต่เกิดลื่นโดนโอ่งล้มทับจมน้ำเสียชีวิต อีกราย นายอุบล ธานี อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47/10 หมู่ 6 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมืองสิงห์บุรี ถูกไฟช็อตขณะไปช่วยเพื่อนบ้านซ่อมปลั๊กไฟ ส่วนรายสุดท้ายคือนายสะอาด แจ้งอรุณ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ 6 ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี เสียชีวิตระหว่างลงเล่นน้ำในคลองข้างบ้าน

พายเรือรับจ้างสร้างรายได้งาม

สำหรับ จ.อ่างทอง ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้ง 7 อำเภอ โดยเฉพาะ อ.เมืองอ่างทอง ที่เสียหายหนักที่สุดระดับน้ำยังสูงเฉลี่ย 2-3 เมตร ชาวบ้าน ต.ป่างิ้ว และ ต.ย่านซื่อ ต้องทนอยู่กับน้ำที่เน่าเหม็นมานานกว่าครึ่ง เดือน ต้องย้ายมาพักอยู่ริมถนน แถมต้องผจญกับยุงที่ออก อาละวาดอย่างหนักจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ขณะที่ชาวบ้านบางคนหัวใสพลิกวิกฤติเป็นโอกาสซื้อเรือมาพาย รับจ้างช่วงที่รถยนต์วิ่งไม่ได้ สร้างรายได้ตกวันละ 800-1,000 บาท ส่วนการช่วยเหลือ พระเทพสารเวที เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช นำปัจจัยไปมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัดในจ.อ่างทอง ที่ประสบอุทกภัยรวม 40 วัด วัดละ 15,000 บาท

โวยปิดประตูน้ำจมทั้งอำเภอ


ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แม้ระดับน้ำหลายอำเภอจะลดลง แต่ที่ อ.บางซ้าย ซึ่งรับน้ำจาก อ.ผักไห่ กลับมีน้ำท่วมสูงเป็นบริเวณกว้างและขยายเข้า อ.ลาดบัวหลวง ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ เพราะทราบว่าสาเหตุที่น้ำท่วมครั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูระบายน้ำบ้านสุด อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เขตติดต่อ อ.บางซ้าย ในช่วง ที่น้ำทะเลหนุน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไปทาง จ.สุพรรณบุรี โดยผ่านทางแม่น้ำท่าจีน ส่งผลให้ชาวบ้านใน อ.บางซ้าย ได้รับความเดือดร้อนกว่า 5,000 ครอบครัว รวมทั้งวัดบางซ้ายนอก และวัดบางซ้ายใน ต้องจมอยู่ใต้บาดาล

บางปลาม้าสาหัส 50 หมู่บ้าน

ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี น้ำในแม่น้ำท่าจีนยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อ.บางปลาม้า ที่เป็นจุดรองรับการระบายน้ำจาก จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ทำให้ทั้งอำเภอมีน้ำสูงกว่า 1 เมตร ราษฎรต้อง พากันอพยพทิ้งบ้านหนีน้ำกันกว่า 50 หมู่บ้าน ขณะที่ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รอง ผวจ.รักษาราชการแทน ผวจ.สุพรรณบุรี และนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ. สุพรรณบุรี ได้นำรถไปช่วยชาวบ้านขนย้ายของ รวมทั้งนำถุงยังชีพไปแจกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

80 โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม


ด้านนายกิจ เกียรติ์สมกิจ ผอ.พื้นที่เขตการศึกษาที่ 1 สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนต่างๆถูกน้ำท่วมไม่สามารถเปิดสอนได้ ต้องเลื่อนการเปิดเทอมจากวันที่ 24 ต.ค. ออกไปเป็นวันที่ 30 ต.ค. และอาจจะต้อง เลื่อนต่อไปอีกหากน้ำยังไม่ลด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ในดุลพินิจของ ผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยในเขต อ.บางปลาม้า อาการหนักที่สุดต้องปิดเรียนถึง 50 โรงเรียน ส่วนในเขต อ.เมืองสุพรรณบุรี มีจำนวน 30 แห่ง ล้วนเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น

เปิดประตูระบายน้ำอีก 14 แห่ง

ที่กรมชลประทานสามเสน นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสะพานพุทธขึ้นสูงสุดอยู่ที่ไม่ เกิน 2.30 ซม. และจะไม่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ เจรจากับชาวบ้านใน จ.นนทบุรี และปทุมธานี ขอระบายน้ำผ่านทางประตูระบายน้ำริมคลองพระยาบรรลือ 8 แห่ง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โครงการชลประทานผักไห่ อ.ผักไห่ โครงการเจ้าเจ็ด อ.เสนา และโครงการบางยี่หน อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 24-27 ต.ค. โดยยกบานประตูระบายน้ำให้สูง 20-30 ซม. รวมทั้งเปิดประตูระบายน้ำคลองพระพิมลอีก 6 แห่ง ส่งผลให้พื้นที่ของ ต.ไทรใหญ่ ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และ ต.คลองพระยาบรรลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลเข้าไปท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม 10-20 ซม. หมู่บ้านใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ เช่น พฤกษา 3 บางบัวทองและอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียง โดยต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์จนถึงวันที่ 7 พ.ย.

สยบข่าวเขื่อนเจ้าพระยาปริร้าว


ด้านศูนย์ประสานงานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ออกประกาศด่วนชี้แจงกรณีมีข่าวเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท แตกร้าวว่า เขื่อนเจ้าพระยามีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีรอยแตกร้าวหรือพังทลายแต่อย่างใด เนื่องจากมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงให้มีความปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ข่าวที่ออกมาว่ามีเขื่อนพังทลายนั้น เป็นลักษณะของคันกั้นน้ำริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่แข็งแรงและพังทลายลงมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขแล้ว

พระเทพฯพระราชทานถุงยังชีพ

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์อาสากองงานในพระองค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักราชเลขาธิการ ไปมอบถุงยังชีพพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และบริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี และสิงห์บุรี ในวันที่ 25 ต.ค.

นายกฯออกทีวีชี้แจงแก้น้ำท่วม


ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 16.00 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการพบปะกับผู้นำชุมชนจำนวน 200 คน ตอนหนึ่งว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น มีคนบอกว่าไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรเลย ความจริงแล้วรัฐบาลทำ เพียงแต่เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ตนจึงต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบว่ารัฐบาลได้เตรียมแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งในเรื่องการบรรเทาและการฟื้นฟูอย่างไรบ้าง

จากนั้นเวลา 17.20 น. พล.อ.สุรยุทธ์ได้เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท เพื่อบันทึกเทปรายงานการชี้แจงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมของรัฐบาล ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 25 ต.ค. เวลาประมาณ 21.00 น.

ยันไม่มีเกาเหลาในการทำงาน

ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้แถลงภายหลังประชุม ครม.ถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม กรณีเกิดปัญหาในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และไม่จัดลำดับความสำคัญของงานว่า การทำงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตนยืนยันว่ามีการประสานงานกัน เพียงแต่พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมค่อนข้างกว้าง ทำให้อาจมีอุปสรรคบ้างบางพื้นที่ แต่ทุกกระทรวงมีการประสานงานกัน เราเน้นการทำงานในเชิงบูรณาการ อาจจะมีปัญหาบ้าง และแน่นอนว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลจะชี้แจงการทำงานในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเตรียมการที่จะฟื้นฟูหลังน้ำลด ข้อมูลต่างๆเรามีอย่างครบถ้วน

ของบ 157 ล้านบาทซับน้ำตา


ด้าน ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. ได้ให้ความเห็นชอบขอความสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ในการฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชนทางด้านร่างกายและจิตใจจากปัญหาอุทกภัย โดยของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพื่อดำเนินการบรรเทาภัยความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นจำนวนเงิน 157,613,640 บาท

แผนผันน้ำเมืองกรุงพ้นวิกฤติ

ด้านนายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการ กปร. เปิดเผยถึงการประชุมคณะที่ปรึกษาและกรรมการประสานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2549 ว่า ที่ประชุม ซึ่งมีนายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี เป็นประธาน พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับบริหารจาก 17 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม หลังไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมดูแลการผันน้ำเข้าทุ่งนาและพื้นที่ส่วนพระองค์นั้น ส่งผลให้ระดับน้ำที่จะไหลลงมาสู่กรุงเทพฯลดวิกฤติลง เป็นไปตามแนวพระราชดำริทั้งสิ้น และในปีนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีโครงการบรรเทาอุทกภัยเพิ่มขึ้นคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คลองลัดโพธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำตะวันออก โดยเฉพาะเขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้ จ.นครนายกไม่ประสบปัญหาอุทกภัยเหมือนทุกปี การประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กปร.จะรวบรวมปัญหาทั้งหมดนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังจากนั้นจะจัดทำรายงานการประชุมเพื่อทูลเกล้าฯถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงปัญหาและความคืบหน้าการดำเนินงาน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและแนวทางประสานงานกันอย่างต่อเนื่องของแต่ละหน่วยงาน ให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างทันท่วงทีภายใต้วิธีการที่ชัดเจนตามแนวพระราชดำริ และเพื่อให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้คลายกังวลในสถานการณ์ อุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ด้วย

ห่วงเพชรบุรี-ประจวบฯ-ชุมพร


นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางและภาคเหนือ ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วม 16 จังหวัดเริ่มคลี่คลายลงแล้ว คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 เดือน โดยระดับน้ำจะเริ่มลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง แต่หากพื้นที่ใดยังมีน้ำท่วมขังอยู่ คงต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบออก

ส่วนมูลค่าความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ที่ยังไม่รวมด้านการเกษตรกรรม และบ้านเรือน มีมูลค่า 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงหลังจากนี้คือสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์