รััฐอุ้มลูกจ้างรายละ 3 พันบาท จ่อใช้ เช็คช่วยชาติ

รัฐบาลใกล้ได้ข้อสรุปเสนอ ครม.ใช้รูปแบบเช็คช่วยชาติดูแลลูกจ้างราชประสงค์ 20,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม คนละ 3,000 บาท ... 

นางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม ห้างสรรพสินค้า

และตัวแทนร้านค้าปลีกรายใหญ่ ถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง ว่า เบื้องต้นจะเสนอให้ ครม.วันที่ 4 พ.ค.นี้ เห็นชอบใช้โมเดลเช็คช่วยชาติมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุม  โดยหลักการต้องเป็นผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณอัตราช่วยเหลือแล้วจะอยู่ที่รายละประมาณ 3,000 บาท 

ทั้งนี้ มีจำนวนลูกจ้างตามที่ผู้ประกอบการแจ้งรายชื่อมาประมาณ 20,000 ราย ซึ่งเป็นลูกจ้าง

ในระบบที่มีรายได้น้อยที่ขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่นและลูกจ้างทั่วไป แยกเป็นลูกจ้างของโรงแรม 10 แห่งบนพื้นที่ราชประสงค์จำนวนกว่า 3,297 คน และลูกจ้างของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ภายในอาคารห้างสรรพสินค้า 1,700 ราย จำนวน 17,000 คน ขณะที่ลูกจ้างนอกระบบที่ไม่ได้มีการประกันตนไว้กับกระทรวงแรงงาน จะเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ 

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะกลับไป

จัดทำรายละเอียดการคำนวณจำนวนเงินเบื้องต้นที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างทั้ง 20,000 คน ให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีจำนวน 3,000 บาท หรืออาจบวกลบมากน้อยจากนี้อย่างไร เพื่อเสนอให้ ครม.ตัดสินอีกครั้ง ส่วนจะจ่ายเป็นเช็คเช่นเดียวกับเช็คช่วยชาติหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่หลักการแล้วเงินช่วยเหลือต้องถึงมือลูกจ้างภายในเดือน พ.ค.นี้  ยืนยันว่าแนวทางที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือครั้งนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้นซึ่งแตกต่างไปจากการชดเชย โดยจะเริ่มนับจากวันที่ 14 มี.ค.เป็นต้นมา ขณะเดียวกันยังมีเครื่องมือของรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานเข้ามาดูแลตามกฎหมายด้วย

ขณะเดียวกันจะเร่งหารือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและโรงแรมให้ผ่อนปรนเรื่องค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการรายย่อย

โดยรัฐบาลจะให้ ความช่วยเหลือในด้านอื่นตอบแทน เช่น การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่บรรดาผู้ค้าที่เป็น หาบเร่แผงลอยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเพราะบางคนอาจเปลี่ยนไปขายของที่อื่นแทน หรือขายของให้ผู้ชุมนุมแทน ทางกระทรวงแรงงานต้องไปตั้งโต๊ะเพื่อรับจดทะเบียนคนที่เดือดร้อนให้ชัดเจนก่อน สำหรับโรงแรมยูโร แกรนด์ โฮเทล ซึ่งมีที่ตั้งใกล้เคียงกับบ้านของนายกฯนั้นถือว่าเป็นกรณีพิเศษเพราะได้รับผลกระทบมากกว่าที่อื่น รัฐบาลจะเข้าไปหามาตรการดูแลเป็นกรณีพิเศษอีกครั้งหนึ่ง 

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อขอให้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดให้ เร็วที่สุด โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท รวมทั้งต้องนำกลไกการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาดำเนินการด้วย เพื่อลดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีโดยเร็วต่อไป 

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย ว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการโดย เร่งด่วน

คือการวางกรอบความช่วยเหลือให้กับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเขตราชประสงค์-สีลม และในเขตอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยเบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละธนาคารเข้าไปดูแลลูกค้าของตนเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและให้การช่วยเหลือตามความจำเป็น ซึ่งจากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่เบื้องตนพบว่า ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีสายป่านเงินทุนที่ยาว ขณะที่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กน่าเป็นห่วงมากกว่า แม้จะยังมีแรงสู้ แต่หากการชุมนุมยังยืดเยื้อเกิน 3 เดือน ก็อาจทำให้การทำงานสะดุดและขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนักได้ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าลูกค้าได้รับผลกระทบก็ให้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือทันที 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหามีบางส่วนขาดสภาพคล่อง

เพราะรายได้ลดลง   และได้เริ่มติดต่อขอความช่วยเหลือมาบ้างแล้ว   ส่วนการขอเลื่อนการชำระหนี้มีบ้างแต่เป็นจำนวนที่ไม่มาก  และถือว่ายังเป็นการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่อาการยังดี เพราะมีรายได้ในส่วนอื่นๆ มาชดเชยรายได้ที่หายไป.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์