เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยาหรือสมรภูมิ

ไม่เฉพาะจ่าเพียร หากบังนังสตาเคยพรากอย่างน้อยๆอีก 2 ชีวิตคือหมวดตี้และผู้กองแคน ความเศร้าปนสงสัยจึงมีขึ้นมาว่า อำเภอเล็กๆ แห่งนี้ซ่อนอะไร


29 กันยายน 2550 ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข อายุ 30 ปี รองผู้บังคับกองร้อยรบพิเศษ 1 (รพศ.1) กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือตำรวจพลร่ม จากค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ถูกซุ่มโจมตีขณะนำกำลังออกลาดตระเวนบริเวณเนินเนาวรัตน์ บนถนนบ้านสายสุราษฎร์-บ้านภักดี หมู่ 3 ต.เขื่อนบางลาง อ.บังนังสตา


20 มิถุนายน 2551 ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ ผู้บังคับหมวด กองร้อยรบพิเศษ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถูกซุ่มโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธขณะนำกำลังออกลาดตระเวน บริเวณเนินบ้านสันติ 1 หมู่ 2 ต.เขื่อนบางลาง อ.
บันนังสตา


12 มีนาคม 2553 พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงถล่มซ้ำ ขณะนำกำลังออกตรวจพื้นที่ บนถนนในหมู่บ้าน หมู่ 2 บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา


น่าสนใจไม่น้อยว่า เหตุใดตำรวจหนุ่มฝีมือดี อนาคตไกลถึง 2 นายที่มีศักยภาพพร้อมรบสูงสุด เพราะเป็นถึงตำรวจพลร่ม กับตำรวจรุ่นลายครามที่ช่ำชองพื้นที่และมีความสามารถรอบตัว จึงต้องจบชีวิตในอำเภอแห่งนี้

ถิ่นนามะปราง...


อ.บันนังสตาตั้งอยู่ตอนกลางของ จ.ยะลา หากใช้เส้นทางสายหลักจากตัวเมืองยะลา คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 มุ่งลงใต้เพียง 39 กิโลเมตรก็จะถึงตัวอำเภอ โดยปลายสุดของถนนสายนี้คือ อ.เบตง ใต้สุดแดนสยาม


อำเภอเล็กๆ อย่าง
บันนังสตา ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2450 หรือ 103 ปีมาแล้ว เดิมชื่อ “อำเภอบาเจาะ” เป็นเขตการปกครองที่ขึ้นกับเมืองรามัน ตั้งอยู่บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ ในปัจจุบัน


ต่อมาสยามได้ยกเลิกหัวเมืองต่างๆ จึงย้ายอำเภอมาตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "
บันนังสตา" ซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น แปลว่า "นามะปราง"


บันนังสตามีพื้นที่ 629 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ยะหา อ.กรงปินัง และ อ.รามัน จ.ยะลา ทิศตะวันออกจรด อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทิศใต้ติดต่อกับ อ.ธารโต จ.ยะลา และติดตะวันตกติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย


บันนังสตาเป็นอำเภอเล็กๆ มีจำนวนประชากร 53,602 คน  50 หมู่บ้าน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.บันนังสตา ต.บาเจาะ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ ต.ถ้ำทะลุ ต.ตลิ่งชัน และ ต.เขื่อนบางลาง ประชากรราว 60 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลืออีก 32 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาพุทธ


สวรรค์ของกลุ่มโจร


 ที่ตัวอำเภอบันนังสตา มีสถานที่ราชการตั้งอยู่ติดๆ กัน ทั้งที่ว่าการอำเภอ โรงพัก และโรงเรียน มีสามแยกไม่เล็กไม่ใหญ่ หากหันหน้าไปทางทิศใต้บนทางหลวงหมายเลข 410 เลี้ยวขวาที่สามแยกนี้จะเข้าเขต ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นถนนสายที่เคยเกิดเหตุคนร้ายในชุดไอ้โม่งบุกยิงคนบนรถตู้สายเบตง-หาดใหญ่ เสียชีวิตถึง 8 ศพ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2550 กลายเป็นข่าวครึกโครมทางสื่อทุกแขนง


 ถนนสายนี้ยังเคยเกิดเหตุรุนแรงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเหตุยิงปะทะ ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ มีข้าราชการและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องมาสังเวยชีวิตมากมาย


 ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา
บันนังสตาเป็นเพียงหนึ่งใน 2 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด โดยอีก 1 อำเภอที่ประกาศเคอร์ฟิวพร้อมกันก็คือ อ.ยะหา ที่เกิดเหตุฆ่า 8 ศพบนรถตู้


 สภาพพื้นที่ของ อ.บันนังสตา เป็นที่ราบสลับหุบเขา ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น ป่ายางพารา และสวนผลไม้ แม้จะมีถนนสายใหญ่ตัดผ่านอย่างทางหลวงหมายเลข 410 แต่เมื่อแยกจากถนนสายนี้เข้าไปตามตำบลต่างๆ จะมีถนนสายเล็กๆ คดเคี้ยวไปตามเหลี่ยมเขาและราวป่า คล้ายเส้นโลหิตฝอยมากมายหลายสาย แต่ละสายลัดไปออกได้หลายอำเภอ บางสายลัดข้ามจังหวัดได้เลยทีเดียว


 นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อำเภอแห่งนี้เป็นดั่งสวรรค์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะมีเส้นทางหลายเส้นที่เรียกกันว่า “คิลลิ่ง โซน” (Killing Zone) คือเป็นโค้งขึ้นเนินเขาสูงข่ม สองข้างทางปกคลุมไปด้วยป่ารก ง่ายต่อการดักซุ่มยิงและลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน


 หลังก่อเหตุก็มีเส้นทางให้เลือกหลบหนีได้อย่างสะดวกโยธิน! 

ตลิ่งชัน...ปิดตำนาน 'จ่าเพียร'


 หากขับรถมาจากตัวเมืองยะลา พ้นเขต อ.กรงปินัง ก็จะเข้าเขต อ.
บันนังสตา มองป้ายข้างถนนจะพบชื่อหมู่บ้านแปลกๆ เช่น บ้านตะบิงติงงี อยู่ในเขต ต.ตลิ่งชัน


 จากทางแยกเข้า ต.ตลิ่งชัน เพียง 20 กิโลเมตรก็จะเข้าเขต ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ถนนสายนี้เป็นสายเล็กๆ 2 ช่องจราจร ตัดผ่านหุบเขา มีภูเขาใหญ่น้อยเป็นดั่งกำแพงล้อมรอบ แม้จะเป็นถนนลาดยางตลอดสาย และชาวบ้านนิยมใช้ เพราะย่นระยะเวลาการเดินทางไป จ.นราธิวาส ได้มากกว่าเส้นทางปกติถึงเท่าตัว แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า กลางคืนห้ามผ่าน


 ช่วงรอยต่อระหว่าง ต.ตลิ่งชัน อ.
บันนังสตา กับ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร ส่วนใหญ่เป็นป่ายาง มีบ้านเรือนปลูกอยู่ห่างๆ กันไม่ถึง 20 หลังคาเรือน ที่เห็นเยอะคือเพิงเล็กๆ ที่ใช้พักช่วงกรีดยาง ส่วนใหญ่เป็นคนรับจ้างกรีดยางจากนอกพื้นที่เข้ามาอาศัย เลยจากจุดนี้ไปจะมีสามแยกที่สามารถเลี้ยวไป อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้อีกทางหนึ่ง


 และหมู่บ้านทับช้างที่ลึกเข้าไปใน ต.ตลิ่งชัน ก็คือจุดที่คนร้ายใช้ดักสังหาร พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา

ปลายทาง 'หมวดตี้-ผู้กองแคน'


 หากไม่เลี้ยวรถเข้า ต.ตลิ่งชัน แต่ขับตรงผ่านตัวอำเภอบันนังสตาลงไปทางใต้ จะพบทางแยกเข้าเขื่อนบางลาง เลี้ยวเข้าไปไม่ไกลจะพบทางแยกขวาขึ้นสันเขื่อน


 คนนอกพื้นที่อาจเข้าใจว่า ปลายทางของเส้นทางสายนี้อยู่ที่สัน "เขื่อนบางลาง" ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามแต่ร้างผู้คน ทว่าแท้ที่จริงแล้วถนนสายแคบๆ นี้ยังลัดเลาะริมเขาขึ้นไปยังหมู่บ้านอีกหลายแห่งบนพื้นที่สูง


 และการเดินทางสู่ ต.เขื่อนบางลาง ที่คร่าชีวิต “ผู้กองแคน” กับ “หมวดตี้” ก็ต้องใช้เส้นทางสายนี้


 หมู่บ้านสองข้างทางเป็นหมู่บ้านไทยพุทธสลับมุสลิม โดยคนไทยพุทธจำนวนหนึ่งอพยพมาจากนอกพื้นที่หลายสิบปีแล้ว แม้จะเป็นคนใต้แต่ก็ไม่ใช่ใต้สามจังหวัดชายแดน ชื่อหมู่บ้านที่เคยปรากฏผ่านสื่อเพราะเคยเกิดเหตุรุนแรงก็เช่น บ้านภักดี บ้านสันติ 1 เป็นต้น


 โดยเฉพาะบ้านสันติ เมื่อปลายปี 2549 คนไทยพุทธจากบ้านสันติ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต และบ้านสันติ 1 ต.เขื่อนบางลาง อ.
บันนังสตา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ได้พากันอพยพไปอาศัยอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม ในตัวเมืองยะลา เพราะไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากถูกกลุ่มคนร้ายไล่ล่าราวีอย่างหนักข้อ ถึงขนาดฆ่าทิ้งและเผาบ้าน


 ผืนป่าทิศตะวันออกของถนนสายนี้คือพรมแดนไทย-มาเลเซีย ฉะนั้นแม้จะมีเส้นทางสายหลักจากเขื่อนบางลางขึ้นมาถึงหมู่บ้านเหล่านี้เพียงสายเดียว แต่การก่อเหตุและหลบหนีของคนร้ายก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสามารถพุ่งตรงเข้าเขต อ.ธารโต ซึ่งเต็มไปด้วยผืนป่าต่อเนื่องไปถึงเขต อ.เบตง ได้ ทั้งยังเล็ดรอดเดินเท้าเข้าประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย


  ทั้ง “ผู้กองแคน” และ “หมวดตี้” ไม่เพียงแต่อยู่กองร้อยเดียวกัน เสียชีวิตก่อนวันเกิด 1 วันสำหรับรุ่นพี่ และ ตรงกับวันเกิดอายุ 24 ปีพอดีของรุ่นน้อง หากทั้งสองคนยังถูกซุ่มโจมตีในท้องที่ตำบลเดียวกัน คือ ต.เขื่อนบางลางด้วย ต่างกันแค่เพียงหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น


 ถนนหนทางในย่านนี้ทั้งเปลี่ยว คดโค้ง และมีเนินสูงข่มที่เรียกว่า “คิลลิ่ง โซน” หลายแห่ง นานๆ ถึงจะมีรถแล่นผ่านสักคัน แถมเวลาที่มีรถจากนอกพื้นที่สัญจรผ่านมา ยังมีเด็กโตและวัยรุ่นผลุบโผล่จับจ้องอยู่หลังแมกไม้เป็นระยะ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นหน่วยดูต้นทางของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่


 ที่ผ่านมา ทหาร ตำรวจระดับนายๆ ทั้งหลายแทบไม่เคยเดินทางเข้าพื้นที่นี้ด้วยรถยนต์เลย ส่วนมากใช้เฮลิคอปเตอร์กัน และนั่นคือภาพสะท้อนอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เห็นการปฏิบัติภารกิจบนความเสี่ยงที่
บันนังสตาซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติต้องเผชิญอยู่ทุกวัน


แดนสนธยา…สมรภูมิถาวร?


 ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิรบ ทำให้บันนังสตามีเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบ


 นับเฉพาะฝ่ายเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีแต่ตำรวจระดับผู้กำกับการอย่าง พ.ต.อ.สมเพียร เท่านั้น แต่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2549 พ.อ.สุทธิศักดิ์ ประเสริฐศรี ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 หรือ ผบ.ฉก.1 จ.ยะลา ก็ถูกวางระเบิดและยิงถล่มซ้ำจนเสียชีวิต ที่บริเวณทางโค้งบ้านบาโงสะโต หมู่ 9 ต.
บันนังสตา อ.บันนังสตา


 31 พฤษภาคม 2550 กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ระเบิดดักสังหารและยิงถล่มซ้ำทหารพรานที่ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.
บันนังสตาขณะเคลื่อนกำลังไปช่วยเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งจากเหตุปะทะ ทำให้ทหารพรานพลีชีพในคราวเดียวกันถึง 12 นาย

 บันนังสตาเป็นเขตการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นายมะแอ อภิบาลแบ ซึ่งเป็นระดับแกนนำในพื้นที่ รางวัลนำจับหลักล้านบาท นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม แต่ละคนมีหมายจับยาวเป็นหางว่าว

 เป็นที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่แห่งนี้มีเหตุยิงปะทะกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายหนึ่ง ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วันก็จะมีการโจมตีในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความสูญเสียให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 เกิดเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ถึง 4 ศพ หนึ่งในนั้นคือ มะซอบี ยะโก๊ะ ซึ่งว่ากันว่ามีหมายจับถึง 16 หมาย และเชื่อว่าเป็นทีมซุ่มยิง “ผู้กองแคน” กับ “หมวดตี้” จนสิ้นชีวิต


 โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน เกิดเหตุคนร้ายยิงถล่มร้านอาหาร “ป้านา” ติดกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ในตัวอำเภอบันนังสตา ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 3 ราย และคนร้ายวางระเบิดซ้ำเพื่อดักสังหารเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจจุดเกิดเหตุ แต่ระเบิดไม่ทำงาน


 ในทางการสืบสวนทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุดังกล่าวคือกลุ่มของนายมะซอบี และรุ่งขึ้นจากนั้นอีก 1 วันเขาก็กลายเป็นศพ


 นี่คือตัวอย่างของสภาพการณ์จริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
บันนังสตาซึ่งไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิรบ และเป็นอยู่อย่างนี้มาเนิ่นนาน…


 
บันนังสตา จึงยังไม่พ้นจาก "แดนสนธยา" สักที
 

..............................................................



สารทุกข์สุกดิบ ชาว 'นังตา

 ชาว 'นังตา เอง อย่าง สุนันทา สุรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถ้ำทะลุ รู้ดีว่าพื้นที่ในความดูแล ซับซ้อน ลึกลับ ไม่ต่างจากแดนสนธยา


 “บอกตรงๆ ชาวบ้านที่นี่ต้องอยู่กันแบบให้ชีวิตผ่านไปวันๆ ส่วนจะเป็นที่หลบซ่อนตัวของคนร้ายหรือไม่นั้นไม่อยากพูด บอกได้แค่สภาพพื้นที่ว่าเป็นอย่างนี้”


 แต่ สุนันทา ไม่อยากให้มองว่าเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง หรือเป็นพื้นที่อันตราย เพราะทุกพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็รุนแรงทั้งหมด  “คนในพื้นที่อยู่กันด้วยความชินมากกว่า เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอด ส่วนความรู้สึกหวาดกลัว คิดว่ามันเกินกว่านั้นแล้ว แต่ก็ไม่คิดจะย้ายไปไหนนะ แม้ว่าจะไม่ใช่คนที่เกิดบันนังสตาก็ตาม จะขออยู่ที่นี่จนตาย”


 ด้าน ฮัจยีอับดุลรอหมาน ยีเซ็ง กำนัน ต.
บันนังสตา  กล่าวคล้ายๆ กันว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงอย่างไรก็ไม่ขอหนีไปไหน หากจะตายก็ขอตายที่บ้านเกิด


 ในความเห็นของ ฮัจยีอับดุลรอหมาน เขาก็คิดเหมือนคนทั่วๆ ไปในพื้นที่ คือชาวบ้านส่วนใหญ่จะรู้ว่าอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่มักไม่รู้


 “บางคนมาอยู่ไม่ถึงปีก็ถูกคำสั่งให้ย้ายออกไปแล้ว จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ามาศึกษาเรื่องประชาชนและสภาพพื้นที่ แล้วก็ย้ายออกไปอีก ทำให้ไม่ต่อเนื่อง และต้องมาเสียเวลาในการเก็บข้อมูลมากกว่าการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านจริงๆ”


 แม้จะเกิดเหตุร้ายใหญ่ๆ ขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะล่าสุด คือ ผู้กำกับสมเพียร แต่ ฮัจยีอับดุลรอหมาน ก็ยังยืนยันว่าความสัมพันธ์ของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยกันยังดีเหมือนเดิม


 “ในระดับชาวบ้านไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยน เวลามีกิจกรรมก็จะร่วมมือกัน  เวลาทำงานก็ทำเป็นปกติ กรีดยางค้าขายได้ แต่ในส่วนของความรู้สึก แน่นอนอยู่แล้วที่ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงกัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ แต่พอเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็เข้าสู่สภาพปกติ แต่ละคนก็มุ่งทำมาหากินไปวันๆ”


 จิตติภรณ์ สะระยะ ชาวบ้าน
บันนังสตา เผยว่า ความรุนแรงที่ผ่านมา ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ไม่เว้นแม้แต่คนศาสนาเดียวกัน เพราะตอนนี้เหตุการณ์มั่วจนมองไม่ออกว่าใครเป็นใคร



 “คนดีกับคนไม่ดีแยกกันไม่ออกเลยเดี๋ยวนี้ แม้ทุกวันนี้สถิติเหตุร้ายลดลง แต่เมื่อเกิดแต่ละครั้งก็จะส่งผลเป็นความสูญเสีย กลัวทุกครั้งที่เกิดเหตุ แต่จะทำยังไงได้ ก็ที่นี่มันบ้านเรา จะหนีไปไหนพ้น อยู่ที่ไหนก็ตายได้ทั้งนั้น”
 

จิตติภรณ์ ยังเห็นว่า บ้านเกิดของเธอเหมาะสมกับคำว่า "แหล่งกบดาน"


 “อำเภอเรามีภูเขาเป็นกำแพงรอบด้าน ทำให้บันนังสตาเกิดเหตุบ่อยครั้ง เพราะเวลาทำผิดอะไร พอหนีขึ้นเขาลูกไหนสักลูกหนึ่งก็พ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าตามเข้าไปหรอก เพราะมันอันตรายสำหรับเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับคนทำผิด ถ้าเข้าไปก็แปลว่ารอดทุกครั้ง”


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์