ยกเลิกน้ำฟรีต่ออายุไฟฟ้า-รถเมล์-รถไฟ3ด.

 

คมชัดลึก :รัฐยอมแบกกว่า 4.5 พันล้าน ยืดมาตรการลดค่าครองชีพ ให้ใช้ไฟ-รถเมล์-รถไฟฟรีอีก 3 เดือน ส่วนน้ำให้ยกเลิก ชี้ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน พร้อมไม่ต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มองธุรกิจฟื้นตัวมีกำไรเพิ่มขึ้น


ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำให้แก่ครัวเรือนนั้น ครม.เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรการนี้

เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อประชาชนและประชาชนสามารถรับภาระดังกล่าวได้ โดยปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งยังมีการรายงานว่า ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในเดือนมกราคม ของประชาชนผู้ใช้น้ำระหว่าง 0-20 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนอยู่ที่ 75-258 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือ 15-52 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น


นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การต่ออายุมาตรการ 3 มาตรการอีก 3 เดือน ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 4,538 ล้านบาท

แบ่งเป็นค่าใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน 3,648 ล้านบาท ค่าเดินทางโดยรถโดยสาร 611 ล้านบาท และค่าเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 วงเงิน 279 ล้านบาท โดยเฉพาะการที่รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน จะทำให้มีครัวเรือนได้ประโยชน์ถึง 8 ล้านครัวเรือน
ส่วนการยกเลิกมาตรการลดภาระค่าน้ำนั้น กระทรวงการคลังเห็นว่า สมควรยกเลิกมาตรการนี้ เนื่องจากมีประชาชนที่ไม่ยากจนได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ แม้จะยกเลิกมาตรการ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อภาระประชาชนมากนัก เพราะค่าภาระค่าใช้จ่ายน้ำอยู่ที่ 15-52 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น


"มาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนเป็นมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ชั่วคราว เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการอื่นที่ลดภาระค่าครองชีพและเสริมรายได้ให้ประชาชนที่ถาวรมาใช้ เช่น นโยบายเรียนฟรี โครงการประกันรายได้เกษตรกร การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการจ่ายเบี้ย อสม.ซึ่งเป็นมาตรการที่เพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชน การใช้มาตรการชั่วคราวก็มีความจำเป็นที่ลดลง" นายกรณ์กล่าว


นายกรณ์กล่าวต่อว่า ครม.มีมติให้ยุติมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 28 มีนาคม ทั้งการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.11%

สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์และค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% และ 1% เหลือ 0.01% ของราคาประเมินสำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หากประชาชนต้องการได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องทำธุรกรรมซื้อขายบ้านก่อนวันที่ 28 มีนาคม


นอกจากนี้ ครม.มีมติไม่ขยายมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับประชาชนที่ซื้อบ้านใหม่หลังแรกเพื่อที่อยู่อาศัย เท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 3 แสนบาท ซึ่งหมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2552


นายกรณ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้ ครม.รับทราบว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทั้งการจ้างงาน และการใช้วัสดุก่อสร้าง ผลจากมาตรการทำให้มีการโอนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 7% โดยเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัยมีการโอนที่อยู่อาศัย 10% ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ก่อนหักดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในระดับที่ดีมาก โดย ครม.มีมติเห็นชอบไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะหมดอายุในวันที่ 28 มีนาคม อีกต่อไป  


ทั้งนี้ การที่ ครม.มีมติล่วงหน้าเพื่อสร้างความชัดเจนให้แก่ประชาชนที่จะได้เร่งโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ยังเหลือเวลาอีก 1 เดือน

และยืนยันว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ และ ครม.มีมติไม่ขยายกรอบเวลามาตรการที่จะหมดอายุในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดหน่วยให้แก่การซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในอัตราไม่เกิน 3 แสนบาทนั้น ก็หมดอายุตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว


นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้ ครม.ทราบว่า ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะที่ผ่านมา สามารถลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการได้โดยตรง

ขณะที่การลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์
จากข้อมูลผลประกอบการของกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างในปี 2551 และปี 2552 พบว่ามีกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยไตรมาส 3 ปี 2552 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ถึง 16.23% สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมด 8 ประเภทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเพิ่มขึ้น 46.07% จากปีก่อนหน้า หากพิจารณาผลประกอบการของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยหรือห้องชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ชั่วคราวเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา ช่วยระบายปริมาณอสังหาริมทรัพย์คงค้างในระบบได้ในระดับหนึ่งแล้ว

อีกทั้งสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจก็ปรับตัวดีขึ้น จึงน่าจะเพียงพอกับมาตรการกระตุ้นชั่วคราวแล้ว
“กระทรวงการคลังมีความเห็นว่า มาตรการภาษีที่มีลักษณะเป็นการทั่วไปและถาวรมีความเพียงพออยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการขยายระยะเวลามาตรการชั่วคราว” นายวัชระกล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์