หาแหล่งก๊าซรั่วมาบตาพุดไม่เจอ ตรวจซ้ำปุ๋ยแห่งชาติ-บ่อบำบัดน้ำเสีย

ก๊าซ"มาบตาพุด"รั่วเป็นปริศนา จนท.ตรวจทั้งนอก-ในนิคมฯไม่พบสิ่งผิดปกติ ให้กนอ.จัดชุดร่วมกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสากรรม ตำรวจ ตัวแทนชาวบ้านตรวจซ้ำโรงปุ๋ยแห่งชาติ บ่อบำบัดน้ำเสีย สงสัยเป็นต้นเหตุให้เกิดกลิ่น

นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประชุมร่วมกับ พล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (รอง ผบช.ภ.2)

พล.ต.ต.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) ระยอง นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อหารือผลการตรวจสอบกลิ่นก๊าซที่รั่วไหลใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วย รวม 6 คน โดยประชุมที่ห้องประชุม กนอ.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบว่าก๊าซรั่วจากที่ใด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวใช้เวลา 2 ชั่วโมง

โดยปิดห้องประชุมไม่ให้สื่อมวลชนเข้าฟัง ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจกลิ่นก๊าซ เป็นผู้รายงานผลการตรวจสอบโรงงาน ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนอกเขตนิคมฯ รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง
นายสยุมพรแถลงถึงผลการประชุมว่า เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบโรงงานที่อยู่ในนิคมฯ และชุดตรวจสอบของอุตสาหกรรม จ.ระยอง ที่ตรวจโรงงานนอกนิคมฯ ผลการตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 17 โรง เป็นการตรวจสอบระบบการทำงานในวันเกิดเหตุก๊าซรั่วไหลว่ามีการทำงานระบบเผาทิ้ง ระบบน้ำเสีย จุดเก็บสารเคมี และการซ่อมบำรุง ปรากฏว่าไม่พบสิ่งผิดปกติ


"สิ่งที่พบในบางจุดที่อาจจะต้องตรวจสอบซ้ำโดยละเอียดอีกครั้งว่า เป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษหรือไม่ เช่น โรงปุ๋ยแห่งชาติกำลังตัดโครงสร้างเหล็ก หรือระบบบำบัดน้ำเสียบางแห่งที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ชุดตรวจสอบซ้ำจะเป็นชุดของ กนอ.กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้แทนชุมชน" นายสยุมพรกล่าว


นายสยุมพรกล่าวว่า การป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ภาคประชาชนต้องการให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

มีอุปกรณ์การตรวจวัดก๊าซอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งบุคลากรจากหลายฝ่าย และเป็นที่น่ายินดีที่ฝ่ายโรงงานให้ความร่วมมือจัดรถเคลื่อนที่ออกตรวจการเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม "หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่แต่มีความยากลำบาก ต่อไปนี้จะมุ่งป้องกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม" นายสยุมพรกล่าว


ด้านนายวีรพงศ์กล่าวว่า การตรวจสอบโรงงานนั้น วิเคราะห์สาเหตุทางเทคนิคแล้วยังไม่มีข้อบ่งชี้สิ่งผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม จะสอบสวนรายละเอียดเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง คาดว่ามีประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นที่เกิดขึ้น รวมทั้งประเด็นในส่วนที่เป็นทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับทางด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศของพื้นที่ กระบวนการทำให้เกิดปรากฏการณ์อากาศกดต่ำลง การระบายก๊าซจากปล่องโรงงานไฟฟ้าอาจเกิดปัญหาถูกกดอยู่ในพื้นดิน นี่เป็นอีกประเด็นทางด้านเทคนิค ทางการนิคมฯจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลการศึกษาประกอบด้วย


แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ วันที่ 16 ธันวาคมนี้ จะมีการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ที่ถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับจำนวน 65 โครงการ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากการหารือสถานะโครงการพบว่า มีโครงการที่ซ้ำกันอยู่ 3 โครงการ จึงเหลือเพียง 62 โครงการ แยกเป็น 1.ประกอบกิจการแล้ว 8 โครงการ เงินลงทุน 29,439 ล้านบาท 2.อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 โครงการ วงเงินลงทุน 180,871 ล้านบาท 3.ยื่นคำขออนุญาตและอยู่ระหว่างรอ 18 โครงการ วงเงินลงทุน 26,673 ล้านบาท 4.ยังไม่ยื่นขอคำร้องและไม่ทราบสถานะ 7 โครงการ วงเงินลงทุน 13,121 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 250,104 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เงินลงทุน 142,205 ล้านบาท ผลกระทบต่อเนื่อง สัญญาผู้รับจ้าง 45,492 ล้านบาท ค่าปรับที่เกี่ยวข้อง 2,792 ล้านบาท และจำนวนคนว่างงาน 15,101 ล้านบาท


แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมข้อมูลเพื่อรายงานโครงการที่เกี่ยวข้อง มี 7 โครงการ

แบ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยกเว้นการคุ้มครองจากศาลปกครองกลาง 3 โครงการ และโครงการที่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 67 (2) จำนวน 4 โครงการ ทั้งนี้โครงการที่ถูกระงับของกระทรวงพลังงานจะเกิดผลกระทบทำให้ขาดแคลนก๊าซแอลพีจี และเกิดการว่างงาน 12,000 คน และคนว่างงานทางอ้อม 36,000 คน นอกจากนี้จะมีผลกระทบด้านการตกลงระหว่างประเทศ เรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากการระงับโครงการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิต ตลอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญามูลค่าสูญเสียกว่า 2.6 แสนล้านบาท 


แหล่งข่าวกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการประชุมครม.เศรษฐกิจได้ประเมินว่า โครงการที่ถูกระงับส่วนใหญ่อยู่ในช่วงก่อสร้าง ทั้ง กนอ. และ กรอ. รวม 29 โครงการ วงเงิน 180,817 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาระการลงทุนของประเทศและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และมีผลกระทบต่อแรงงาน 15,000 คน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์