แพทย์ชี้ปีหน้าโรคจากผลโลกร้อนน่าห่วง-หวัด 2009 รอบ 2 พบเป็นแล้วซ้ำได้อีก

โรงแรมสยามซิตี้ 27 พ.ย.- ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คนฯ ระบุปีหน้าโรคที่จะมาจากผลกระทบโลกร้อน ต้องระวังไวรัสจากพาหะแมลงที่อาศัยในสัตว์ฟันแทะจนถึงสัตว์ปีก โดยเฉพาะนำโรคไข้สมองอักเสบ ขณะที่พบว่าผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 แล้วเป็นซ้ำได้อีก


ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กล่าวในการสัมมนา “ผลกระทบจากโลกร้อน ที่นำมาสู่โรคร้าย” ว่า ในปี ค.ศ. 2010 หรือ พ.ศ.2553 โรคจะพบกับภาวะอากาศแปรปรวนมากขึ้น ทั้งน้ำท่วม น้ำขัง ส่งผลให้เกิดการอพยพของสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่สัตว์ฟันแทะจนถึงสัตว์ปีก รวมทั้งแมลง เช่น เห็บ ลิ้น ไร ซึ่งอาศัยอยู่ในตัวสัตว์เหล่านี้ ทั้งหมดก็เป็นพาหะของเชื้อไวรัสต่างๆ ที่แพร่ทั้งสัตว์สู่สัตว์ สัตว์สู่คน โรคที่น่าจับตามองคือ โรคสมองอักเสบจากไวรัสชานดิปุระ โดยมีพาหะนำโรคจากตัวลิ้นฝอยทราย ซึ่งอาศัยอยู่ในวัว ควาย พบระบาดในอินเดีย นับจากปี ค.ศ. 2003-2006 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 232 ราย เป็นอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศอื่นแม้จะพบมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต


นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากไวรัสนิปาห์ ที่ก่อให้เกิดไข้สมองอักเสบได้

ซึ่งพบการติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่งจากค้างคาว ที่ระบาดต่อเนื่องมาจากทางใต้จากมาเลเซีย มีผู้เสียชีวิตอัตราสูงเช่นกัน และมีการวิจัยพบว่าค้างคาวในประเทศไทยมีเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมแพร่เชื้อไวรัสได้ให้ระวังการสัมผัส ส่วนโรคชิคุนกุนยาก็มีแนวโน้มระบาดสูงน่าเป็นห่วง โดยไม่ต้องอาศัยการเพาะเชื้อเป็นเวลานาน เพียงแค่ยุงกัดคนก็ติดเชื้อกันได้


ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอกสองนี้ ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง

เพราะล่าสุดมีข้อมูลว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นแล้วสามารถเป็นใหม่ได้ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เพราะมีผลแล้วการศึกษาจากไวรัส เอช 3 เอ็น 2 และเอช 2 เอ็น 2 และมีผู้ที่เคยได้รับเชื้อเอช 1 เอ็น 1 ซ้ำแล้วเช่นกัน


“วัคซีนที่กำลังจะมาถึงไทยในเดือนธันวาคมนี้ถึงมกราคมปีหน้าจำนวน 2.8 ล้านโด๊ส ซึ่งตั้งเป้าฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็น่าจะไม่เพียงพอ ขณะที่ความรุนแรงและการดื้อยา และระมัดระวังผลข้างเคียงของวัคซีนด้วย ทั้งนี้ นักวิชาการน่าจะมีการถอดรหัสพันธุกรรม โดยมุ่งไปที่การดื้อยาในผู้ป่วยที่มีภูมิอ่อนแอ มากกว่าผู้ป่วยปกติ”

ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกฯ กล่าวและว่า กลุ่มประชากรที่แพร่เชื้อไวรัสได้ดี ยังคงเป็นประชากรวัย 6 เดือนถึง 24 ปี

เพราะมีกิจกรรมอยู่เป็นกลุ่ม มีโอกาสเสี่ยงมีอาการและมีโรคประจำตัวได้ หากเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเข้ารักษาใน รพ.ก็จะสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น ต้องระวังคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ส่วนหลักปฏิบัติตัวให้พ้นจากโรค ยังไม่มีอะไรป้องกันได้ นอกจากดูแลสุขอนามัยตัวเองอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์