นักวิชาการชี้ น้ำเมา ในวัยโจ๋ยังวิกฤต


        ที่โรงแรมเอเชีย  ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และเครือข่ายกว่า 10 องค์กร  จัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “แผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ”  ภญ.อรทัย วลีวงษ์  นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ  กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าการดื่มสุราของกลุ่มวันรุ่นถือว่าเข้าขั้นวิกฤต วัยรุ่นชายอายุ 12-19 ปี ดื่มเบียร์ครั้งละ 3.8 ขวดใหญ่ คิดเป็นปีละ 367 ขวด ขณะที่วัยรุ่นหญิงดื่มครั้งละ 2 ขวด ปีละ 92 ขวดใหญ่  นอกจากนี้เด็กไทย 90% พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน มีร้านเหล้ารอบโรงเรียน รอบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเหล้าปั่นเพิ่มมากขึ้นโดยขาดการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายสุราแก่เด็ก ทำให้เด็กเข้าถึงสุราได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลระบุเด็กวัย 12 ปี  เพียงร้อยละ 9 ที่บอกว่าเหล้าหาซื้อยาก

        “ร่างยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาตินั้นจึงได้เสนอแนวทางการปกป้องอนาคตของสังคมจากภัยน้ำเมา หลายด้าน อาทิ  พัฒนามาตรการการควบคุมกลยุทธ์การตลาดให้เข้มข้นขึ้น การพัฒนาระบบตรวจตราเฝ้าระวังการขายสุราให้กับกลุ่มเยาวชน การกำหนดภาษีเป็นการเฉพาะสำหรับเครื่องดื่มที่ดึงดูดเยาวชน และขยายการห้ามจำหน่ายสุราในบริเวณพื้นที่และเงื่อนไขที่มีเยาวชนหนาแน่นและเข้าถึงได้ง่าย”ภญ. อรทัย กล่าว 

        น.ส.วีรนุช ว่องวรรธนะกุล นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังไม่มีมาตรการในการควบคุมจำนวน และความหนาแน่นของจุดขายปลีกสุราเพื่อป้องกันปัญหา ซึ่งส่งผลให้มีร้านขายสุราที่ได้รับอนุญาตขายกว่าห้าแสนร้านค้า  และผู้ที่ขายโดยไม่มีใบอนุญาตซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 20% ของจุดขายทั้งหมด 

        น.ส.วีรนุช  กล่าวว่า ข้อจำกัดประการสำคัญคือ การขาดมาตรการในการควบคุมจำนวน ความหนาแน่นของจุดขาย และการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และการติดตามประเมินผล รวมไปถึงบทลงโทษผู้กระทำผิด ทำให้การเข้าถึงสุราเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทย  เด็กประถมใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 10 นาทีก็หาซื้อสุราได้  ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตที่ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ถูก  อย่างไรก็ตามร่างยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติของไทย มีได้การเสนอแนวทางการควบคุมการเข้าถึงสุรา ได้แก่  1.การทบทวนและปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตขายสุรา โดยเฉพาะการควบคุมและลดจำนวนและความหนาแน่นของจุดขายสุรา 2.การขึ้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3.การกำหนดพื้นที่อนุญาตขาย หรือการกำหนดโซนนิ่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 4.การสร้างความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย 5.การห้ามขายสุราในพื้นที่และเงื่อนไขที่มีความเสี่ยงสูงและมีเยาวชนหนาแน่น


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์