ศวส.พบนักดื่มหน้าใหม่ปีละ2.6แสนคน


        พบเฉลี่ยดื่มเหล้า 7-8 ลิตร/ปี มากเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย น่าตกใจตากเพราะเหล้า 18,000 ราย/ปี


        วันนี้(25 พ.ย.) นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวว่า แม้ไทยจะพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์ รวมถึงมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แต่นโยบายยังไม่สามารถตอบสนองต่อการลดปัญหาสุราได้เท่าที่ควร เนื่องจากยังมีเรื่องของมาตรการและช่องว่างในการนำไปใช้ให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า ไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นประมาณปีละ 2.6 แสนคน โดยเฉลี่ยดื่มเหล้าคนละ7-8 ลิตรต่อปี ถือว่ามากติดอันดับต้นๆของเอเชีย ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งอายุ 25-59 ปี ดื่มมากสุดถึง 34% ที่ชอบดื่มมากคือเบียร์ 69% รองลงมาเป็นสุรา 19.4% ที่น่าตกใจคนไทยเสียชีวิตเพราะดื่มเหล้า 18,000 รายต่อปี

        “ปัญหาคือเยาวชนมองว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา น่าตื่นเต้น เพราะได้แรงกระตุ้นจากสื่อหลายทาง เช่น โทรทัศน์ หนังสือ หรือตามคอนเสิร์ต การดื่มสุรามีส่วนกระตุ้นให้วัยรุ่นอยากรู้อยากลอง กระตุ้นให้มีแรงดึงดูดทางเพศ เพราะงานวิชาการชี้ให้เห็นว่าวัยรุ่นที่ดื่มเหล้า มีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรถึง 4 เท่า มีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 3 เท่า มีโอกาสสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ดื่มเหล้า” นพ.ทักษพล กล่าว

        นพ.ทักษพล กล่าวว่า เพื่อให้ปัญหาสุรามีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ศวส. จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 11 องค์กร จัดประชุมสุราวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “แผนยุทธ์ศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ” ในระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. ที่โรงแรมเอเชีย เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมสมัชชาสุภาพแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้การควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวาระแห่งชาติ และวาระท้องถิ่น และมอบหมายให้พัฒนาร่างแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหาจากการดื่มสุราในสังคมไทย ผ่านยุทธศาสตร์ห้ากลุ่ม อาทิ มาตรการทางภาษี การควบคุมการเข้าถึง การควบคุมกลยุทธการตลาดของอุตสาหกรรมสุรา และมาตรการในระดับชุมชน

        “การจัดประชุมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน ภาคเอกชน กว่า 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมกันหาทางออกของวิกฤติปัญหาสุราและร่วมกันวางแนวทางในอนาคต นอกจากนี้ข้อเสนอต่างๆที่ได้จะนำไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับใช้ต่อไป” นพ.ทักษพล กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์