ตะลึง!!พบ 2 สัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกในไทย หมูดึกดำบรรพ์-ปลากระเบนบัว

นักวิจัยไทยเผยพบ ฟอสซิล "หมูป่าดึกดำบรรพ์" อายุราว 6-8 ล้านปี สายพันธุ์ใหม่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก ตั้งชื่อว่า "หมูป่าแห่งท่าช้าง" ตามชื่อแหล่งที่พบ แถมยังค้นพบ "ปลากระเบนบัว" สายพันธุ์ใหม่ของโลก พบที่ทะเลสงขลา

ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา

แถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เรื่องการค้นพบสัตว์ใหม่ของโลก 2 ชนิด คือ ฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์ และปลากระเบนบัว โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เป็นประธานพร้อมนายชวลิต วิทยานนท์ รอง ผอ.นักวิจัยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ และ น.ส.รัตนาภรณ์ หันตา นักวิจัยจากสถาบันเดียวกัน


น.ส.รัตนาภรณ์ กล่าวว่า ตนพร้อมนักวิจัยได้ค้นพบ ฟอสซิลหมูป่าดึกดำบรรพ์ สกุล Merycopotamus ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินพืช

โดยส่วนที่ค้นพบคือ ส่วนหัว ที่บริเวณแหล่งขุดทรายลุ่มแม่น้ำมูลใน ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ที่สันนิฐานว่าในอดีตบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ป่าผสมทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำ โดยค้นพบที่ความลึก 25 เมตร ตั้งแต่ปี 2545 เป็นส่วนหัวที่มีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะหัวกะโหลกเรียวและแบน มีรูจมูกอยู่ในระดับเดียวกับตาซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงลักษณะและนิสัยการเป็นอยู่คล้ายฮิปโปโปเตมัสขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.8 เมตร โดยหมูป่าชนิดดังกล่าวจะดำรงชีวิตคล้ายฮิปโป คืออาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก


น.ส.รัตนาภรณ์ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยใช้เวลาประมาณ 3 ปีในค้นคว้าหาข้อมูลว่ามีความแตกต่างจากฟอลซิลหมูป่าดึกดำบรรพ์ สกุลอื่นที่มีการค้นพบอย่างไร

กระทั่งได้รับการตรวจสอบพิสูจน์ ยืนยันและได้รับการตีพิมพ์ในเดือน ธ.ค.2551 จากวารสารวิชาการระดับนานาชาติด้านบรรพชีวิน คือ Journal of Vertebrate Paleontology ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากนักวิจัยทั่วโลก ว่า ฟอสซิลหมูป่าดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบที่ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก มีอายุประมาณ 8-6 ล้านปีก่อน ที่สำคัญ ฟอสซิลซิลหมูป่าดึกดำบรรพ์ ที่ค้นพบในประเทศไทย ยังเป็น 1 ใน 5 หัวกะโหลกหมูป่าดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบได้ทั่วโลก โดยอีกฟอสซิลอีก 4 ชิ้น ค้นพบได้ที่ประเทศปากีสถาน แต่เป็นคนละชนิดพันธุ์ ที่สำคัญฟอลซิลหมูป่าของประเทศไทยมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยขณะนี้ ฟอลซิลหมูป่า ได้มีการตั้งชื่อว่า Merycopotamus thachangensis หรือมีความหมายว่า “แห่งท่าช้าง” เพราะมีการค้นพบที่ ต.ท่าช้าง

               
ด้านนายชวลิต กล่าวว่า สำหรับการค้นพบ ปลากระเบนชนิดใหม่ของโลก พบที่ทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา เรียกว่า ปลากระเบนบัวหรือ กระเบนหางยาว

ซึ่งเป็นชื่อเรียกพื้นบ้านของชาวประมงใน จ.สงขลาและพัทลุง  อยู่ในสกุล Himantura ปลากระเบนชนิดใหม่ของโลกที่มีการค้นพบ มีรูปร่างโตเต็มที่ระหว่าง 80 เซนติเมตรถึง 1 เมตร น้ำหนัก ประมาณตัวละ 60 กิโลกรัม มีฟันประมาณ 18 ซี่ อาศัยในน้ำจืด โดยบริเวณที่ค้นพบว่าคือ ทะเลสงขลา ตอนใน อ.เกาะใหญ่และกระแสสินธ์ ซึ่งน้ำจะจืดมากๆ และเป็นบริเวณเดียวกับที่มีการค้นพบปลาโลมาหัวบากซึ่งหายากมาก ทั้งนี้ ตนได้ทำนำเสนอการค้นพบดังกล่าวในการประชุมนานาชาติเรื่องปลาแห่งภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 8 ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือน มิ.ย.2552 ที่ผ่านมาและได้รับการยอมรับว่าเป็นปลากระเบนชนิดใหม่ของโลก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเกรงว่าปลากระเบนชนิดใหม่ของโลก จะสูญพันธุ์ก่อนที่จะได้รับการตีพิมพ์  เพราะคุณภาพน้ำในทะเลสาบ ขณะนี้เสียหายมากรวมทั้งการถูกไล่ล่าจากชาวประมง ที่ไม่รู้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดใหม่ของโลกโดยเร็ว   

               
ขณะที่นายสุวัจน์ กล่าวว่า การค้นพบฟอลซิลหมูป่าดึกดำบรรพ์ ถือเป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ชิ้นที่ 3 ต่อจากซากช้างและไดโนเสาร์ ที่นครราชสีมา

ซึ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาของภาคอีสาน โดยในปี 2554 สถาบันฯ จะจัดประชุมซากดึกดำบรรพ์โลกขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมมายุครบ 84 พรรษาด้วย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์