ภาวิชวิพากษ์ศูนย์ฯราชภัฏ เตือนคุณภาพมหาวิทยาลัยต้องมาก่อน

"ตรวจยกระดับราชภัฎเร่งสร้างคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ"


คุณภาพบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ คุณภาพและสื่อการสอน ตลอดจนหลักสูตรการเรียน เป็นปัญหาที่หากจะหยิบยกขึ้นมาถกกันแล้วคงเป็นเรื่องที่พูดกันไปได้ไม่รู้จบ

โดยเฉพาะการทำอย่างไรเพื่อยกระดับให้คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นที่ยอมรับของบัณฑิตที่จบออกมาเป็นที่ต้องการและได้รับคัดเลือกให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของแหล่งงาน

ซึ่งคงเป็นหน้าที่โดยตรงของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ที่จะต้องหันกลับมาสำรวจคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนของตนเองว่าทำอย่างไรให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นที่จับจองตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทัดเทียมมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชื่อดังของประเทศ


"ปัญหาคุณภาพบัณฑิต"


ในมุมมองของ ศ.(พิเศษ)ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ฐานะที่เป็นผู้กุมบังเหียนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือที่รู้จักดีในนาม "สกอ." หน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนงานการอุดมศึกษาในระดับนโยบาย ชี้ว่า "ปัญหาคุณภาพบัณฑิต คุณภาพหลักสูตร การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดกันมาเป็นประจำ และพูดกันมานานแล้ว โดยเฉพาะการขยายศูนย์การศึกษา

หรือวิทยาเขต ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ หากมหาวิทยาลัยมีศักยภาพสามารถที่จะเปิดศูนย์การศึกษาได้จำนวนมาก และพัฒนาให้เกิดคุณภาพมาตรฐานของหลักสูตรได้ก็คงไม่มีปัญหา ในทางกลับกันถือว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชน นักเรียน นักศึกษาที่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งใดเปิดศูนย์การศึกษาในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษาจริงๆ ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี


"ปัญหาการทับซ้อน พท.การศึกษา"


"แต่ถ้ามหาวิทยาลัยเน้นเปิดศูนย์การศึกษา ให้บริการอุดมศึกษาในพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ตั้งอยู่อย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว แม้จะมีข้อดีที่ทำให้นักศึกษาสามารถเลือกสถาบันอุดมศึกษาได้หลากหลาย มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งหากมองในมุมการแข่งขันทางด้านคุณภาพก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็จะกลายเป็นปัญหาพื้นที่การบริการทางการศึกษาทับซ้อนกัน โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยเดียวกัน เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ สิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยควรจะต้องพิจารณา โดยคงไม่ต้องรอให้ สกอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางมาพูด แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏเองคงต้องเริ่มคุยกัน"

ในเรื่องคุณภาพของหลักสูตรนั้น ศ.(พิเศษ)ภาวิชระบุว่า "สกอ.มีเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเป็นตัวหลักกำหนดเรื่องนี้ ขณะเดียวกันกำลังมีแนวทางติดตามและประเมินผลมาตรฐานหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น การติดตามดูการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยว่าสอดคล้องกันเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ.หรือไม่ เช่น การรับรองปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จริงๆ แล้วโดยกฎหมายสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการรับรอง แต่ สกอ.อาจสร้างบรรทัดฐานขึ้นใหม่ขึ้นเกี่ยวกับการรับรองหลักสูตรปริญญาเอกในหลายลักษณะ เพื่อให้คล้ายเป็นการติดตราสัญลักษณ์ "อย." หรือป้าย "เชลชวนชิม" ให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียน หรือนักศึกษาที่จะเลือกเข้าศึกษาต่อได้มีพื้นฐานในการตัดสินใจ


"ยังไม่เข้าใจบทบาท ต้องช่วยกันแก้ไข"


และขั้นต่อไป สกอ.จะต้องกำชับให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง เข้ามาช่วยดูแลในการเปิดหลักสูตรพิเศษของมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพราะเท่าที่ตนได้พบขณะนี้เห็นว่าสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอาจจะยังไม่เข้าใจบทบาทของตนเองเท่าที่ควร

"ปัญหานี้อาจมีมานานแล้ว เพราะคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่เป็นกรรมการชุดเก่าที่ตั้งขึ้นใหม่ตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้งที่ในกฎหมายใหม่กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่ และภาระที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมาก เช่น หน้าที่ในการบริหารงานบุคคล ซึ่งจากเดิมสภามหาวิทยาลัยไม่มีส่วนรับผิดชอบ หรือการประกันระบบคุณภาพการศึกษา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สภามหาวิทยาลัยต้องทำความเข้าใจและเน้นย้ำให้มาก เพราะหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องได้รับการอนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัย ดังนั้นสภามหาวิทยาลัยจึงจะต้องทำหน้าที่ในการดูแลคุณภาพหลักสูตรแทนสาธารณชน"


"มีงบจำกัด ต้องเร่งสร้างคุณภาพก่อน"


ศ.(พิเศษ)ภาวิชย้ำว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องตั้งไว้เป็นหลักอันดับแรก คือ "คุณภาพ" ทั้งการเปิดหลักสูตร หรือการขยายวิทยาเขต/ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ควรดูความถนัดของตนเองก่อน ไม่จำเป็นต้องใจร้อนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมีงบประมาณจำกัด เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่พร้อมกัน 40 แห่ง ดังนั้นจะต้องจัดทิศทางของตนเองให้ถูก ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่าเร่งขยายหรือเปิดหลักสูตรมากเกินไป แต่ต้องทำให้คุณภาพของมหาวิทยาลัยตนเองมีความมั่นคงก่อน จากนั้นค่อยขยายห่วงโซ่คุณภาพในสาขาวิชาที่เกี่ยวพันให้เข้มแข็งต่อไป

ในส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากว่า การขยายวิทยาเขตเปิดศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏจะสามารถรองรับและเป็นไปตามความต้องการของชุมชนได้หรือไม่นั้น ศ.(พิเศษ)ภาวิชเห็นว่า "ความต้องการกับความไม่ต้องการของชุมชนหากจะเถียงกันก็คงไม่รู้จบ เรื่องนี้ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับสาธารณชนมากกว่าการให้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ โดยนักเรียนบางคนที่ได้รับข้อมูลในทางบวกอาจเห็นว่ามหาวิทยาลัยนี้ดีจึงเลือกเรียน ขณะเดียวกันอีกคนอาจเห็นว่าไม่ดีและไม่เลือกเรียนก็ได้


"สำคัญต้องมีระบบดูแลมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับก่อน"


แต่สำคัญที่สุดคือ มหาวิทยาลัยเองจะต้องมีระบบในการดูแลมาตรฐานของตนเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ สกอ.เองไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลมหาวิทยาลัยได้อย่างใกล้ชิดเหมือนในอดีต เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยเปิดเสรี ภายใต้ความเชื่อว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีเสรีภาพทางการศึกษาจะเกิดเสรีภาพทางวิชาการขึ้น แต่เสรีภาพก็มีปัจจัยอื่นเข้ามาผสมผสานด้วย คือในเรื่องเงิน การหารายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่"

"แต่หากมหาวิทยาลัยคิดว่าการขยายวิทยาลัย เปิดหลักสูตรใหม่ๆ เป็นหนทางในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่สถานศึกษาของตนเองเท่านั้น ก็คงเป็นที่น่าเสียใจ ถ้าผู้บริหารมีทัศนคติอย่างนั้นก็คงจะหลงทาง เพราะจริงๆ แล้วต้องตั้งหลักอยู่ที่ประเด็นจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเป็นหลัก หากผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพแต่จำนวนมากก็เป็นภัยต่อประเทศและสังคม มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องมีนักศึกษาเป็นหมื่นๆ คนจึงจะอยู่ได้"

เสียงสะท้อนจากเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาในมุมมองต่างๆ นี้ อาจจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยจุดประเด็นให้มหาวิทยาลัยราชภัฏหันกลับมาสำรวจตนเองว่าเดินทางไปถูกทางแล้วหรือยัง


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์