1 ต.ค. นี้เตรียมเปิดแอร์พอร์ตลิงค์ให้คนไทยลองใช้ฟรี


เผยความคืบหน้าโครงการลุล่วงแล้วกว่า 99% พร้อมเตรียมเรียกวิศวะกรอิสระเร่งตรวจสอบระบบความปลอดภัย ระบุขณะนี้ยังหาข้อสรุปตั้งบริษัทลูกรฟท.ไม่ได้

วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เดินทางไปตรวจสอบความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและ สถานีรับส่งผู้โดยสารในเมือง หรือแอร์พอร์ตลิงค์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มักกะสัน ซึ่งจะเป็นจุดที่ผู้โดยสารสามารถเดินทางมาเช็กอินก่อนเดินทางไปยังท่า อากาศยานสุวรรณภูมิด้วยระบบรถไฟฟ้าเอ็กซ์เพรสไลน์ หรือการเดินทางด้วยระบบซิตี้ไลน์ที่จะจอดตามสถานีต่าง ๆ 6 สถานีก่อนเดินทางไปสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายยุทธนา กล่าวถึงความคืบหน้าด้านการก่อสร้างในส่วนงานโยธาว่า ขณะนี้คืบหน้าแล้วร้อยละ 99.9 ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าก็คืบหน้าร้อยละ 99.8  ถือว่างานทั้งหมดมีความพร้อม และตั้งแต่ รฟท.ได้เริ่มทดสอบระบบการเดินรถตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาขัดข้องแต่อย่างใด หลังจากนี้จะเปิดให้วิศวกรอิสระเข้ามาตรวจสอบระบบความปลอดภัยของการเดินรถ โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน โครงการจะพร้อมให้บริการ ส่วนกำหนดการที่จะเริ่มเดินรถทดสอบและเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งผู้โดยสารที่สนใจสามารถขอรับตั๋วที่สำนักงานบริหารโครงการที่มักกะสัน หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานใหญ่ รฟท.  โดย รฟท.จะเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งสัปดาห์ละ 1 วัน จนถึงวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ก็จะเริ่มเดินรถอย่างจริงจัง  หลังจากนั้น รฟท.จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนมีนาคม 2553 โดยจัดเก็บค่าโดยสารเอ็กซ์เพรสไลน์ วิ่งจากมักกะสัน-สุวรรณภูมิ ไม่เกิน 150 บาท  ซิตี้ไลน์ตั้งแต่ 15 บาท และสูงสุดไม่เกิน 40 บาท

ส่วนปัญหาการจัดตั้งบริษัทลูกที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.ออกมาคัดค้านนั้น ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า ขณะที่ยังไม่มีบริษัทลูก รฟท.จะดำเนินการเรื่องแผนการทดสอบและการเตรียมความพร้อมในการบริหารระบบ รถไฟฟ้าด้วย รฟท.เอง หากในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเปิดให้บริการแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งบริษัท ลูกได้ รฟท.อาจจำเป็นต้องหาบริษัทผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมระบบเดินรถมาบริหารงาน ก่อนเป็นระยะเวลา 2-3 ปี เพื่อให้สามารถเริ่มให้บริการได้ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่พนักงานผู้ปฏิบัติงานของ รฟท.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากในอนาคตข้อพิพาทระหว่างฝ่ายบริหารและสหภาพฯ รฟท.ยังไม่ได้ข้อยุติ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดจ้างบริษัท Deutsche Bahn International (DBI) จากประเทศเยอรมนี เป็นผู้บริหารการเดินรถชั่วคราว จากปัจจุบันบริษัทดังกล่าวทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝึกอบรมให้แก่พนักงานที่จะ ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการเดินรถ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ รฟท.ได้อนุมัติเงินว่าจ้าง 85 ล้านบาท


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์