ข้อบังคับผ่าตัดแปลงเพศบังคับใช้ 25พ.ย.


       

        ที่กระทรวงสาธารณสุข วันนี้(11 ก.ย.) นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 พ.ย. 2552 นี้ จะเริ่มมีการบังคับใช้ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการผ่าตัดแปลงเพศ จึงได้เชิญตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศัลยแพทย์ จิตแพทย์ อัยการ ตัวแทนจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ และตัวแทนจากกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ มารับฟังข้อมูลและฟังความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทตนเองในการรองรับ การดำเนินการตามข้อบังคับให้เป็นไปตามระเบียบ พร้อมทั้งพูดถึงบทบาทหน้าที่ตนเองเกี่ยวกับเพศที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน สำหรับในส่วนแพทยสภานั้นจะดูแลการแปลงเพศที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงใดๆนั้น จะต้องทำโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ที่ผ่านมามีปัญหาค่อนข้างมาก แพทยสภาค่อนข้างเป็นห่วง จึงออกกฎข้อบังคับมาควบคุม โดยมีสาระสำคัญที่เน้นขั้นตอนการดำเนินการต่อผู้ป่วย ได้แก่ การประเมินทางจิตวิทยาและความเหมาะสมที่จะรับการแปลงเพศ การเตรียมพร้อมคนไข้ก่อนแปลงทั้งการรับยาฮอร์โมน การทดลองใช้ชีวิตจริงเป็นเพศที่ต้องการ 1 ปี

        เลขาธิการแพทยสภา กล่าวต่อว่า ข้อบังคับกำหนดให้แพทย์ศัลยกรรมในทุกสาขาสามารถผ่าตัดได้ เพราะเป็นผู้มีความรู้ด้านพื้นฐาน รวมทั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ทำการผ่าตัดแปลงเพศก็ทำได้ ซึ่งหลังผ่าตัดแล้วแพทย์จะต้องคอยติดตามผู้ป่วยเพื่อดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสภาพจิตใจ ซึ่งข้อบังคับนี้กำหนดให้ผู้รับการผ่าตัดแปลงเพศต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่หากอายุต่ำกว่านี้ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม ทั้งนี้หากแพทย์ทำการฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ จะต้องได้รับการลงโทษตั้งแต่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมถึงการยึดใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม

        นพ.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมของแพทยสภายังเห็นว่า ในอนาคตควรมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเพศที่ 3 โดยเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพ ซึ่งจะมีรายละเอียดการรับรองสิทธิ์เพศที่ 3 อาทิ การแต่งงาน การรับการราชการ การเกณฑ์ทหาร การทำพาสปอร์ต และการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ซึ่งคิดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เนื่องจากในอนาคตมีแนวโน้มว่ากลุ่มเพศที่ 3 จะมีการแปลงเพศมากขึ้น และจะเป็นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแน่นอน

        'เรื่องนี้ต้องให้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นตัวกลางในการดูแลทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการรับรองสถานะ ที่เป็นกฎหมายให้กับกลุ่มเพศที่ 3 เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้รู้สึกกดดันจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ซึ่งแพทยสภาพร้อมสนับสนุนและช่วยด้านวิชาการเต็มที่' เลขาธิการแพทยสภา กล่าว.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์