ประกันสังคมไม่ใช่ของฟรี

สวัสดิการประกันสังคมมีอะไรบ้าง คุ้มที่จะจ่ายหรือไม่


ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ประกันสังคม (รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐ) ไม่ใช่ของฟรี มันอาจจะเป็นของราคาถูกสำหรับคนบางคน หรืออาจจะแพงไปสำหรับบางคน แต่ว่าสวัสดิการด้านประกันสังคมไม่ใช่ของฟรี ถ้าอยากได้ต้องจ่ายเงิน

สวัสดิการประกันสังคมมีอะไรบ้าง คุ้มที่จะจ่ายหรือไม่

สวัสดิการด้านประกันสังคม (ที่มีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้บริหารจัดการในการซื้อขายสวัสดิการ โดยใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม) มี 7 อย่าง ประกอบด้วย สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล คลอดบุตร ทุพพลภาพ เงินช่วยเหลือญาติเมื่อเสียชีวิต เงินสงเคราะห์บุตร เงินบำนาญเมื่อชราภาพ และเงินทดแทนเมื่อว่างงาน


ถ้าอยากได้สวัสดิการทั้งหมดเหล่านี้ต้องทำอย่างไร และต้องจ่ายเงินเท่าไร


คำตอบคือ คุณต้องเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนและคุณจะต้องจ่ายเงินให้แก่สำนักงานประกันสังคมเดือนละร้อยละ 5 ของเงินเดือน เช่น ถ้าเงินเดือน 5,000 บาท คุณต้องจ่ายเพื่อให้ได้สิทธิสวัสดิการเหล่านี้เดือนละ 250 บาท (หักออกโดยนายจ้างแล้วนำส่งสำนักงานประกันสังคม) ถ้าเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ต้องจ่ายเงินเดือนละ 750 บาท ข้อควรคำนึงก็คือ การได้สิทธิแต่ละประเภทนี้มีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า คุณจ่ายเงินเดือนนี้แล้วจะมีสิทธิทุกประเภททันที เช่น จะมีสิทธิกรณีคลอดบุตรก็ต่อเมื่อได้จ่ายเงินมาแล้ว 7 เดือน นอกจากนี้ ถ้าคุณจ่ายเงินทุกเดือนตามระเบียบ แต่นายจ้างคุณไม่จ่ายด้วย (ทั้งๆ ที่นายจ้างคุณหักเงินเรียบร้อยแล้ว) คุณก็ไม่มีสิทธิในสวัสดิการประกันสังคม


ถ้าอยากได้สวัสดิการทั้งหมดนี้ แต่ว่าไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือเป็นแรงงานนอกระบบจะต้องทำอย่างไร


ถ้าอยากได้สวัสดิการทั้งหมดนี้ แต่ว่าไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือเป็นแรงงานนอกระบบจะต้องทำอย่างไร

แรงงานนอกระบบ หมายรวมถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างเอกชนที่อยู่นอกภาคการเกษตร คำว่า "นอกระบบ" ในที่นี้ไม่ใช่ว่า "ผิดกฎหมาย" หรือเป็น "แรงงานต่างด้าว" แต่ "นอกระบบ" เป็นการกล่าวถึงนอกระบบสวัสดิการ (เช่น รักษาพยาบาล) สำหรับแรงงาน

นอกระบบหรือผู้ว่างงานที่เคยเป็นสมาชิกของสำนักงานประกันสังคมมาก่อน (เป็นลูกจ้างผู้ประกันตน) ตามกฎหมายแล้วอนุญาตให้เป็นผู้ประกันตนต่อได้ โดยเรียกว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้สวัสดิการเหมือนลูกจ้างผู้ประกันตนทั่วไปทุกประการ ยกเว้นเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เหตุผลเพราะอยู่ในสถานะที่ไม่มีนายจ้างหรือกำลังตกงานอยู่แล้ว ทำให้ไม่อยู่ในเงื่อนไขของ "การได้ประโยชน์เมื่อออกจากงาน"

สวัสดิการที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้ก็ต้องเสียเงินเช่นกัน ในแต่ละเดือนผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องจ่ายเงิน 432 บาท มีคนจำนวนหนึ่งคิดดูแล้วว่าจ่าย 432 บาทต่อเดือนคุ้มกับสวัสดิการที่ได้รับ โดยเฉพาะคนที่มีโรคเรื้อรัง (ที่มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อเดือนสูง) คนที่ทุพพลภาพต้องการการดูแลทางการแพทย์เป็นพิเศษ และคนที่มีลูกอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 350 บาทต่อเดือน (ได้มากสุด 2 คนคือ 700 บาทต่อเดือน) คนปกติมีบ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แต่คิดเป็นสัดส่วนน้อย ซึ่งการใช้สิทธิตามครรลองนี้เราก็ไม่ว่ากัน ถ้าเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการใช้เทคนิคศรีธนญชัยเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของสวัสดิการ

สำหรับผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบแบบที่ไม่เคยเป็นสมาชิกประกันสังคมมาก่อน หรือเคยเป็นก็นานมาแล้ว (เกินหกเดือน) ถ้าอยากได้สวัสดิการประกันสังคมก็ต้องจ่ายเงินเช่นกัน ด้วยการเป็น ผู้ประกันตนแบบสมัครใจ หรือเรียกว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40


แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ตีราคาแล้วเห็นว่า 140 บาทต่อเดือนมันแพงเกินไป


ในปัจจุบันการเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมแบบสมัครใจ จะต้องจ่ายเงินเดือนละประมาณ 140 บาท แต่สวัสดิการที่ได้มีเพียงสามประเภทเท่านั้นคือ สวัสดิการคลอดบุตร ทุพพลภาพ และเงินช่วยเหลือญาติเมื่อเสียชีวิต เท่าที่ผ่านมา มีแรงงานนอกระบบไม่ถึง 100 คนต่อปีที่สมัครใจเป็นผู้ประกันตนแบบมาตรา 40 แสดงให้เห็นว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ตีราคาแล้วเห็นว่า 140 บาทต่อเดือนมันแพงเกินไป

ที่บอกเล่าสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่ว่าต้องการประชาสัมพันธ์งานให้แก่สำนักงานประกันสังคม แต่อยากให้แรงงานนอกระบบทราบว่าสวัสดิการที่คาดว่าจะได้จากการประกันสังคมที่นักการเมืองจะเอานโยบายมาขายนั้น มันไม่ใช่ของฟรี

นโยบายที่นักการเมืองกำลังพยายามขาย นั่นคือ ให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิในสวัสดิการประกันสังคมทั้ง 7 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น เทคนิคที่นักขายนโยบาย (เซลส์แมนนโยบาย) มักนำมาใช้คือ โฆษณาไปก่อนว่าของที่ขายจะดี แต่ยังไม่บอกว่ากี่บาท (ที่สำคัญขายแล้วไม่รับคืน ถ้าขายออกแล้วเงินไม่พอก็ปรับลดคุณภาพสวัสดิการ)

คราวนี้ลองมาคำนวณกันว่า นโยบายประกันสังคมเพื่อแรงงานนอกระบบจะราคากี่บาท ราคา 140 บาทต่อเดือนดูเหมือนว่าจะแพงเกินไปสำหรับสวัสดิการสามประเภท

ถ้านักการเมืองเอาสวัสดิการมาจัดกล่องรวมชุดสวัสดิการใหม่ แล้วติดราคาใหม่ เช่น ให้สวัสดิการทั้ง 7 ประเภทและคิดราคาครึ่งเดียว (หมายถึงผู้ประกันตนจ่ายเงินเฉพาะส่วนของลูกจ้างไม่ต้องจ่ายส่วนของนายจ้างตามที่โฆษณา) ถ้าหากฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคิดเงินสมทบยังเท่าเดิม ก็หมายความว่า ราคาของชุดสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบคือ เดือนละ 140 บาทหารสอง ก็คือ 70 บาท (ถ้าไม่ใช่ราคานี้ผู้ขายก็ควรจะบอกมาเลยว่าจะขายกี่บาท) ของดีขนาดนี้ ราคา 70 บาท ต่อให้ต้องกู้เงินกองทุนหมู่บ้านมาจ่ายก็ยอม


ถ้ามันดีอย่างนี้ทำไมเพิ่งคิดได้ล่ะ ?


ถ้าเช่นนั้นแนวโน้มว่าลูกค้าใหม่ของประกันสังคมจะมีกี่คน ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 19-22 ล้านคน (ขึ้นอยู่กับฤดูกาล) ส่วนใหญ่ประกอบกิจการส่วนตัวหรือไม่ก็ช่วยกิจการภายในครัวเรือน ผู้คนเหล่านี้มีรายได้ไม่แน่นอน บางเดือนอาจจะไม่มีแม้แต่บาทเดียว ในขณะที่บางเดือนก็ได้มากกว่าลูกจ้างประจำทั้งหลาย แต่การหาเงินมาจ่ายเดือนละ 70 บาท ออกจะเป็นเรื่องเล็ก เพราะทุกวันนี้ จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือก็มากกว่านี้แล้ว

ถ้าอย่างนั้นนโยบายนี้ก็คุ้มมากๆ ใช่หรือไม่ คนเลือกนโยบายก็คุ้ม คนขายนโยบายก็คุ้ม แต่มันเป็นไปได้อย่างไรกัน ? ถ้ามันดีอย่างนี้ทำไมเพิ่งคิดได้ล่ะ ? ผู้ประกันตนทั้งเก้าล้านคนช่วยกันคิดหน่อย ? สำนักงานประกันสังคมที่ศึกษาเรื่องนี้มาสามปีแล้วช่วยตอบหน่อยว่า นโยบายนี้ราคาเท่าไร ?





แหล่งข่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์