68ปี อาชีวะคึกคักแห่เรียนอาชีพ สภาพัฒน์หนุนผลิตคนพันธุ์อาร์รับอีก5-6ปี ตลาดแรงงานขาดแคลน


"68ปีอาชีวะไทย"วันที่2คนยังแน่น แห่เรียนอบรม108อาชีพระยะสั้นในวันเดียว สภาพัฒน์แนะอาชีวะปรับหลักสูตรเร่งคลอด"คนพันธุ์อาร์"เพิ่ม รองรับศก.เชิงสร้างสรรค์ คาดอีก5-6ปีหน้าตลาดแรงงานขาดแคลน

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัล ลาดพร้าว น.ส.ชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "แนวโน้มและทิศทางการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ" ในงาน "68 ปี อาชีวะไทย ก้าวไกลสู่อนาคต" ในโอกาสครบรอบการสถาปนาการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 68 ปี มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนากว่า 200 คน ว่า สถานการณ์ และแนวโน้มตลาดแรงงานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ปริมาณ และสัดส่วนความต้องการแรงงานด้านวิชาชีพจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ขาดแรงงานสายวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพ และศักยภาพ ดังนั้นการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีศักยภาพ เพื่อผลิตบุคลากรสายวิชาชีพให้ตรงตามเป้าหมายของตลาดแรงในอนาคต ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ สอศ.ต้องเร่งทำ


"ที่สำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) อีกทั้ง โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล ได้เน้นเรื่องส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ นำเอาวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น เป็นโอกาสสำคัญของ สอศ.ที่จะปรับหลักสูตร และเร่งผลิตบุคลากรสายวิชาชีพที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในภาคผลิต ภาคบริการ และการส่งออก เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์" น.ส.ชุตินาฎกล่าว


ด้านนายเฉลิมศักดิ์ นานเชียงใต้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า 68 ปีของการผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพ ถือเป็นการก้าวเดินที่ประสบความสำเร็จ และเป็นความภาคภูมิใจ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นความก้าวหน้าของ สอศ.ในปีที่ 69 ที่จะปฏิรูปการอาชีวศึกษา เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ทุกคนจะได้เห็นแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสอนปริญญาตรีสายปฏิบัติ และการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อทำหน้าที่ผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพทุกระดับให้มีศักยภาพ และปริมาณ ตามความต้องการของภาคแรงงาน เบื้องต้นสถาบันการอาชีวศึกษาจะมี 19 แห่ง เปิดสอนด้านวิชาชีพกว่า 300 สาขา โดยจะมีระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ 7 ชั่วโมง จนถึงระดับปริญญาตรีทางเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ 


"การเปิดสอนระดับปริญญาตรีของ สอศ.เพื่อต่อยอด และรองรับนักเรียนที่เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพราะเด็กกลุ่มนี้เมื่อเรียนจบ ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาไม่มีสาขาให้เลือกตามวิชาชีพที่เรียนมา ดังนั้นการตั้งสถาบันการอาชีวะจะแก้ปัญหานี้ ที่สำคัญจะผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพป้อนตลาดแรงงานได้ตรงตามความต้องการด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรวมสถานศึกษาอาชีวะเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. ... ขณะนี้คืบหน้าไปมาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเร็วๆ นี้ คาดว่าจะจัดตั้งสถาบันการอาชีวะได้ในเดือนตุลาคม" นายเฉลิมศักดิ์กล่าว


น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีประชาชน และนักเรียนสนใจเข้ามาชมจำนวนมาก ดังนั้น ในปี 2553 ซึ่งอาชีวะจะครบ 69 ปี จะจัดงานอีกแน่นอน โดยจะเพิ่มระยะเวลา และจำนวนอาชีพที่จะอบรมด้วย


นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า จากการประเมินภาพรวมของการจัดงานถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนของการอบรมวิชาชีพระยะสั้น แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันคนกำลังต้องการอาชีพในการสร้างรายได้เสริมในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นหากประชาชนที่สนใจฝึกอบรมอาชีพในระยะยาว และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ติดต่อไปยังสถาบันการศึกษาสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ 415 แห่งได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในงาน บริเวณห้องบางกอกคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 4 และ 5 เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งจัดเป็นวันที่ 2 ยังมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมกิจกรรมภายในงานอย่างคับคั่ง โดยกิจกรรมการอบรมอาชีพหลักสูตรระยะสั้น 108 อาชีพ เรียนจบภายใน 1 วัน ยังได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ หลักสูตรหัตถกรรมผ้าขนหนู ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน กล่องผ้าไทย และทำตุ๊กตาไล่มด เป็นต้น โดย 2 วัน มีผู้ลงทะเบียนอบรมกว่า 800 คน รวมทั้ง ในส่วนของบริเวณจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ฝีมือนักศึกษาอาชีวะจากทั่วประเทศ ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมจำนวนมากเช่นกัน  


นางพจนีย์ ดีรัตนโพคา อาจารย์ประจำวิทยาลัยพาณิชยการเชตุพล กรุงเทพฯ กล่าวว่า มาเที่ยวงานของ สอศ.ทุกปี รู้สึกดีใจที่ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาเด็กอาชีวะให้มีคุณภาพ ศักยภาพ ทั้งนี้ จากการเข้าชมงานรู้ประทับใจส่วนของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เด็กอาชีวะคิดค้นขึ้น รวมทั้ง ในส่วนผลิตภัณฑ์และสินค้าฝีมือเด็กอาชีวะ ดังนั้น ปีหน้าก้าวสู่ 69 ปีอาชีวะ อยากให้จัดงานแบบนี้อีก และอยากให้เพิ่มจำนวนหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นให้มากกว่านี้ 


นางพิมพ์นภา จันมูล ประชาชนที่เข้าชมงาน กล่าวว่า มาเพื่อฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นการทำตุ๊กตาไล่มด เพราะมองว่าจะนำไปเป็นอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ รู้สึกประทับใจและทึ่งในความสามารถของเด็กอาชีวะที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เทียบเท่ามืออาชีพ หาก สอศ.ส่งเสริม และพัฒนาสินค้าของเด็กอาชีวะ เชื่อว่าจะสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ปีหน้าอยากเสนอให้เพิ่มระยะเวลาในการจัดงานมากกว่านี้ เนื่องจากปีนี้จัดแค่ 3 วันน้อยเกินไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์