แฉด้วงพิษ2ชนิดน้ำมัน-ก้นกระดก

แค่สัมผัสก็เกิดอันตราย


สาธารณสุขเตือนภัยด้วงพิษ 2 ชนิด ด้วงก้นกระดกและด้วงน้ำมัน ระบุแค่สัมผัสก็เกิดอันตรายได้ "ด้วงก้นกระดก" หรือแมลงเฟรชชี่ เนื่องจากพบมากในช่วงเปิดเทอม ชอบอยู่ตามกองมูลสัตว์ ใต้ดิน กองไม้ ชอบเล่นกับแสงไฟในบ้านเรือน หากสัมผัสจะเกิดผื่นคัน แผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ หากถูกพิษบริเวณดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้ ส่วนด้วงน้ำมัน หากกินเกิน 3 ตัวจะเกิดอาการคออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด สลบและเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวได้ แนะวิธีแก้ เมื่อได้รับพิษให้ใช้น้ำสะอาด หรือแอมโมเนียล้างทันที

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. น.พ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงอันตรายจากแมลงมีพิษ โดยเฉพาะด้วงก้นกระดกและด้วงน้ำมันว่า ด้วงก้นกระดก หรือที่เรียกกันว่าแมลงเฟรชชี่ เนื่องจากพบมากในช่วงเปิดเทอม เป็นแมลงในอันดับ Coleoptera วงศ์ Staphylinidae แมลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 4-7 มิลลิเมตร และมีลักษณะจำเพาะคือปีกคู่แรกแข็งและสั้น ปีกคู่สองมีขนาดใหญ่ ลำตัวเล็กเรียว ส่วนท้องยาวโผล่ออกมานอกปีกสังเกตเห็นได้ง่าย และมีลักษณะสีสันต่างกัน มีแหล่งอาศัยอยู่ตามกองมูลสัตว์ ใต้พื้นดิน ในกองไม้ แต่จะชอบบินเข้ามาเล่นแสงไฟ ในบ้านเรือนที่เป็นพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่เผลอไปสัมผัสได้


ด้วงปีกสั้น หรือด้วงก้นงอน


"ด้วงชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยนั้นจะมีสีส้ม ชาวบ้านเรียกว่าด้วงปีกสั้น หรือด้วงก้นงอน เนื่องจากเมื่อเกาะอยู่กับที่จะชอบงอส่วนท้องขึ้นๆ ลงๆ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paederus fuscipes สำหรับอันตรายจากด้วงก้นกระดกหรือแมลงเฟรชชี่คือสารพิษชนิด paederin ซึ่งเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นคันหรือแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ ถ้าถูกพิษบริเวณดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้" น.พ.ไพจิตร์กล่าว

น.พ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สำหรับด้วงน้ำมันจะเป็นแมลงในอันดับ Coleoptera มีลักษณะเป็นแมลงปีกแข็งเช่นเดียวกับด้วงก้นกระดก แต่ด้วงน้ำมันจะอยู่ในวงศ์ Meloidae และมีขนาดใหญ่กว่ามาก ชนิดที่พบบ่อยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mylabris phalerata ซึ่งมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร มีลักษณะจำเพาะ คือจะมีแถบสีเหลืองสลับดำอย่างละ 3 แถบขวางปีกคู่หน้า ในเมืองไทยมีการสำรวจพบด้วงน้ำมัน 4 สกุล ได้แก่ Epicauta Mylabris Cissites และ Eletica ชาวบ้านมักเรียกว่าด้วงมวน ด้วงไฟถั่ว หรือด้วงไฟเดือนห้า


สารพิษชนิด cantharidin


"อันตรายของด้วงน้ำมันมักเกิดจากมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกแมลงกินได้ จึงนำไปรับประทานซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้ารับประทานมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป เนื่องจากด้วงน้ำมันมีสารพิษชนิด cantharidin ที่ก่ออันตรายแก่ผู้บริโภค โดยผู้ป่วยที่บริโภคด้วงน้ำมันเข้าไปจะมีอาการคออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด สลบและเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลว" น.พ.ไพจิตร์กล่าว

น.พ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ด้วงน้ำมันถ้าถูกรบกวนหรือถูกต้องตัวจะขับของเหลวสีเหลืองอ่อนที่มีสารพิษ cantharidin ออกจากข้อต่อของส่วนขา ถ้าพิษถูกผิวหนังก็จะเป็นตุ่มพุพองอักเสบได้ แต่โดยปกติแล้วแมลงทั้งสองชนิดนี้จะไม่กัดคน แต่ถ้าบังเอิญถูกแมลงไต่ตามร่างกาย แล้วไปตบตีหรือทำให้ลำตัวแตกหัก พิษในตัวแมลงจะถูกขับออกมาเป็นลักษณะของเหลวแล้วซึมเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอาการแพ้ดังกล่าว สำหรับแหล่งอาศัยของด้วงน้ำมันนั้นจะพบหากินตามแหล่งที่ปลูกพืช เช่น ต้นโสน ต้นถั่ว ต้นฝ้าย ต้นกระเจี๊ยบ และไม้ดอกต่างๆ แต่ไม่ได้บินเข้ามาเล่นไฟในเวลากลางคืน


ไม่ควรตบตี


อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่างด้วงก้นกระดกและด้วงน้ำมัน โดยเรียกรวมกันว่าแมลงเฟรชชี่ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนนั้น เนื่องจากลักษณะอาการของผู้ที่ได้รับพิษจากด้วงสองประเภทคล้ายกัน ความจริงแล้วแมลงเฟรชชี่ที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือด้วงก้นกระดก

"วิธีป้องกันภัยจากด้วงก้นกระดก และด้วงน้ำมันนั้น ประชาชนควรระวัง หากพบด้วงทั้งสองชนิดไต่ตามลำตัวไม่ควรตบตี เนื่องจากแมลงจะขับพิษออกมา ถ้าร่างกายสัมผัสถูกพิษให้รีบล้างน้ำสะอาดหรือเช็ดด้วยแอมโมเนียทันที นอกจากนี้ควรลดความสว่างของแสงไฟในเวลากลางคืน หรือปิดมุ้งลวดป้องกันแมลงให้มิดชิด เนื่องจากด้วงก้นกระดกมักเข้ามาเล่นแสงไฟในตอนกลางคืน รวมทั้งห้ามนำแมลงทั้งสองชนิดไปบริโภคโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้" น.พ.ไพจิตร์กล่าวเตือน


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์