โอเซลทามิเวียร์ถึงคลีนิคกลางสัปดาห์หน้า ขู่ต้องทำตามเกณฑ์ ลักลอบขายโดนโทษหนัก


สธ.เตรียมส่งยาโอเซลทามิเมียร์ให้คลีนิคกลางสัปดาห์หน้า ขู่ทำตามหลักเกณฑ์ อย่าลักลอบขาย จับได้โดนโทษหนัก ทั้งขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและผิดจริยธรรม เตือนอย่าหลงเชื่อเว็บไซต์ขายยา

 
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ให้ผู้ป่วยไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ (เอช 1 เอ็น 1) หรือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้คลีนิคเอกชนว่า ภายในสัปดาห์จะทราบว่ามีคลีนิคที่เข้าร่วมโครงการจำนวนแน่ชัดเท่าใด ซึ่งการจัดทำใบรับสมัครเข้าร่วมโครงการยังไม่แล้วเสร็จ แต่การกระจายยาได้วางแผนล่วงหน้าพร้อมจัดส่งยาได้ทันที ส่วนกรณีมีข่าวว่าเว็บไซต์ประกาศขายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเข้มงวดในเรื่องดังกล่าว เพราะยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ถือเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีการสั่งจ่ายโดยแพทย์ ช่องทางรับยามีเพียงการสั่งจ่ายยาผ่านแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนคลีนิคจะเริ่มต้นได้ประมาณกลางสัปดาห์หน้า และต้องเป็นคลีนิคที่ผ่านการคัดเลือกจาก สธ.แล้ว โดยการขึ้นทะเบียนและมีป้ายรับรองของ สธ.

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์ที่ขายยาโอเซลทามิเวียร์ พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และขายยาหลายชนิดรวมอยู่กับกลุ่มยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ยากและมีแรงจูงใจในการซื้อมาใช้น้อย เพราะประเทศไทยมีช่องทางเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่และกำลังจะกระจายยาลงไปในระดับคลีนิค ทำให้แรงจูงใจที่จะหาซื้อยามาใช้มีน้อย ส่วนการขายยาผ่านเว็บไซต์หากพบเข้าข่ายความผิดฐานโฆษณาไม่ได้รับอนุญาติ มีโทษทั้งจำและปรับ หากเป็นยาปลอมก็มีโทษอีกเช่นกันและว่า หลังกระจายยาในระดับคลีนิคแล้ว จะตรวจสอบการใช้ยาเข้มงวดมากกว่าเดิม คลีนิคต่างๆต้องปฏิบัติตามที่ สธ.วางเกณฑ์ไว้ หากตรวจพบว่าคลีนิคแห่งใดลักลอบขายยาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาติ จะมีโทษหนักทั้งขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้แพทยสภาเพราะเข้าข่ายผิดจริยธรรม

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณี น.ส.กัญญา รุ่งบุญ ผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน อายุ 26 ปี ที่ติดเชื้อไข้หวัด 2009 และได้ผ่าท้องคลอดก่อนกำหนด ซึ่งถูกส่งมาจากโรงพยาบาลราชบุรี และเสียชีวิตที่โรงพบาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายหลังจากรักษามาร่วมสัปดาห์นั้น ญาติคือ นายจินดา เปียถนอม ได้ให้ทีมแพทย์เจาะชิ้นเนื้อเพื่อนำไปศึกษาแล้ว แต่ไม่อนุญาติให้แพทย์ทำการผ่าพิสูจน์ซ้ำ เนื่องจากอยู่ในภาวะโศกเศร้า โดยได้ช่วยเหลือโดยจัดรถรับศพไปมาบำเพ็ญกุศลที่วัดพญาไม้ ต.โคกหม้อ อ.เมืองราชบุรี ต่อไป ส่วนอาการทารกเพศหญิงที่ผ่าคลอดก่อนกำหนดล่าสุดอาการดีขึ้น ยังอยู่ในตู้อบรอให้เด็กมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น

รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การผ่าพิสูจน์จะเป็นการหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงและพิจารณารอยโรคว่าทำให้เกิดความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้าง และจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในอนาคตต่อไป

เวลา 10.00 น. ที่วัดพญาไม้ ต.โคกหม้อ อ.เมืองราชบุรี มีการจัดเตรียมเปิดศาลาอเนกประสงค์ สำหรับการตั้งศพบำเพ็ญกุศลหญิงวัย 26 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะตั้งครรภ์ 7 เดือน โดยญาติได้แจ้งกับเจ้าอาวาส เพื่อจะนำศพมาตั้งสวดบำเพ็ญกุศลที่วัดภายในเย็นนี้

พระอธิการอดุลย์ สุธัมโม เจ้าอาวาสวัดพญาไม้ กล่าวว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตมีฐานะยากจน และคุ้นเคยกับทางวัดดี โดยเฉพาะผู้ตายนั้น เมื่อ 8 เดือนที่แล้วแม่ก็เสียชีวิตมาตั้งศพที่วัด

น.พ.สุริยะ คูหะรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จ.ราชบุรี มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อทั้งหมด 10 ราย เป็นหญิง 6 ราย ชาย 4 ราย ล่าสุดเป็นชายอายุ 48 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ใน ต.เจ็ดเสมียน แพทย์ตรวจอาการพบเป็นโรคเบาหวานและพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดเสียชีวิตเมื่อเย็นวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีข้าราชการจำนวนมากโทรศัพท์มาร้องเรียน เนื่องจากเริ่มสับสนกับสาระสำคัญในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ จากการให้ข้อมูลแตกต่างกัน ระหว่างรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 ว่า ให้ผู้สงสัยป่วยเป็นไข้หวัดลาหยุดได้ 7 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา ขณะที่ผู้บังคับบัญชาตามสายงานแจ้งว่าต้องสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ถึงให้ลาหยุดได้ตามความจำเป็น และต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนบันทึกของนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการ ครม. ซึ่งมีถึงหัวหน้าส่วนราชการเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ระบุให้ข้าราชการที่มีอาการเจ็บป่วยและสงสัยเป็นไข้หวัดลาหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ตามความจำเป็น โดยไม่ถือเป็นวันลา และไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ ทำให้ข้าราชการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องว่า ลาได้กี่วันกันแน่ และต้องมีใบรับรองแพทย์หรือไม่

สำหรับบันทึกของเลขาธิการ ครม.แจ้งเวียนถึงหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ระบุตอนหนึ่งว่า เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการที่มีอาการเจ็บป่วยและสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดดังกล่าวลาหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ตามความจำเป็น โดยไม่ถือเป็นวันลาและไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยให้รวมถึงกรณีการต้องลาหยุดที่จำเป็นเพื่อดูแลบุคคลในครอบครัวด้วย และขอความร่วมมือหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนให้การสนับสนุนปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวเพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการแพร่กระจายของโรคด้วยŽ

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. ชี้แจงมติ ครม.ดังกล่าวว่า มติ ครม.อนุญาตให้ข้าราชการผู้ต้องสงสัยป่วยเป็นไข้หวัด 2009 สามารถหยุดงานพักอยู่กับบ้านได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ และไม่ถือเป็นวันลา ในส่วนงานราชการคงไม่มีปัญหาเรื่องการหยุดงาน เพราะรัฐอนุญาตให้หยุดงานได้ แต่ในส่วนของภาคเอกชน อาจจะมีปัญหาบ้าง หากบริษัท ห้างร้าน ใดไม่เข้าใจนโยบายเรื่องนี้ ไม่อนุญาตให้พนักงานหยุดงานได้ ให้แจ้งมาที่ สธ.ได้ทันที พร้อมจะประสานทำความเข้าใจให้

"ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นการใช้ความไว้วางใจกัน หากผู้มีประวัติการทำงานไม่ดี หยุดงานบ่อย อาจใช้เรื่องนี้มาอ้างหยุดงานพร่ำเพรื่อได้ ซึ่งมติ ครม.อนุญาตให้หยุดงานได้เฉพาะเมื่อป่วยต้องสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เท่านั้น ไม่รวมไข้หวัดทั่วไป แต่ละคนจะป่วยได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น หากมีการหยุดงานมากกว่า 1 ครั้ง ให้ต้องสงสัยว่าอาจจะไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ทันที ยกเว้นกรณีมีบุตรหลายคน และมีการป่วยไม่พร้อมกัน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หยุดงานได้มากกว่า 1 ครั้งก็ได้ ดังนั้น เพื่อความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนายจ้างและพนักงานควรมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน”ปลัด สธ.กล่าว

ในขณะที่ นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) กล่าวว่า การลาหยุดงานของข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดกรุงเทพมหานคร ( กทม.) ยึดตามมติ ครม.คือ กรณีผู้ป่วยที่เป็นหวัด เจ็บคอ แต่ไม่มีไข้ ขอให้พักรักษาตัวที่บ้านได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา และไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยให้หยุดอยู่ที่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อ หากผู้ปกครองที่มีลูกป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่ว่าจะทำงานสังกัดใดให้ผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ลาโดยไม่ถือเป็นวันลา เช่นเดียวกันแรงงาน หากป่วยด้วยโรคนี้ให้นายจ้างให้หยุดโดยไม่ถือเป็นวันลาด้วย จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะดีขึ้น

นายเจริญรัตน์กล่าวด้วยว่า ถ้าข้าราชการหรือลูกจ้างจะลางานติดต่อเกินกว่าที่ ครม.กำหนด ต้องดูเหตุผลของการลาด้วยว่าสาเหตุจากอะไร ในระเบียบข้าราชการถือปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น การลาหยุดต้องยื่นใบลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะลางานนั้นจะต้องดูว่าหากลาแล้วจะเกิดผลกระทบกับงานด้วยหรือไม่ หากงานอยู่ในส่วนที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ควรที่หาวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้บกพร่องต่อหน้าที่ด้วย

นายกมล ศิริบรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นครราชสีมา เขต1 เผยว่า ได้รับการประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และเทศบาลนครนครราชสีมา ให้ผู้บริหารโรงเรียนพิจารณาตามความเหมาะสมที่จะประกาศหยุดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ 4-11 สิงหาคม เนื่องจากได้รับข้อมูลมาจากโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนว่ามีเด็กนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนหนึ่งติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์