จับ 8 ผู้ต้องสงสัย สังหารหมู่ 44 ศพ กลางงานวิวาห์ตุรกี



ชี้ไม่ใช่การก่อการร้าย แต่เป็นการจองเวรระหว่างตระกูลผู้มีอิทธิพลคู่อริในท้องถิ่น แต่ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ว่าเป็นฝีมือกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด เผยเจ้าสาวเป็นลูกสาวผู้ใหญ่บ้านผู้ทรงอำนาจ


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเหตุการณ์สังหารหมู่ 45 ศพ กลางงานแต่งงานคู่บ่าวสาวชาวตุรกี วันนี้ (5 พ.ค.) อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ นายเบซีร์ อาตาเลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งตุรกีว่ากลุ่มมือปืนไม่ทราบสังกัดบุกโจมตีแขกเหรื่อที่มาเข้าร่วมพิธีฉลองแต่งงานของบ่าวสาวคู่หนึ่งในหมู่บ้านบิลเก โคยุ เป็นชุมชนชาวเคิร์ดใกล้เมืองมาร์ดิน ทางภาคใต้ของประเทศตุรกี ติดชายแดนประเทศซีเรีย เมื่อกลางดึกวันจันทร์ที่ 4 พ.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 6 ราย โดยผู้เสียชีวิตรวมทั้งเด็กๆ 6 ราย ผู้หญิง 16 ราย แต่ยังไม่มีรายงานชะตากรรมของคู่บ่าวสาวว่าเสียชีวิตหรือไม่

ผู้รอดชีวิตที่เห็นเหตุการณ์สังหารหมู่ ระบุคนร้ายมีประมาณ 4 คน ทั้งหมดสวมใส่หน้ากากปิดบังใบหน้า บุกเข้าไปในงานวิวาห์ของลูกสาวของผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยอาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติครบมือ เปิดฉากโจมตีด้วยการโยนระเบิดใส่บริเวณหน้าบ้าน ก่อนใช้ปืนกราดยิงแขกเหรื่อที่มาร่วมงานประมาณ 200 คน จากนั้นบุกเข้าไปในบ้าน ยิงถล่มผู้คนตลอดจนข้าวของเสียหายยับเยิน ขณะที่ ผู้รอดชีวิตอีกรายหนึ่งเผยด้วยว่า คนร้ายได้กวาดต้อนผู้หญิงและเด็กเข้าไปในห้องๆ หนึ่งและเปิดฉากยิงปืนใส่อย่างโหดเหี้ยม จากนั้นพากันหลบหนีไปก่อนตำรวจจะมาถึง ส่วนหลักฐานในที่เกิดเหตุถูกพายุทรายซัดเข้าใส่จนแทบไม่เหลือร่องรอย สร้างความยากลำบากแก่เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานอย่างยิ่ง


สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นระบุว่า ปฏิบัติการโหดทั้งหมดกินเวลานานประมาณ 15 นาที สภาพเหยื่อผู้เสียชีวิตน่าสยดสยองมาก หลายศพหน้าตาเละเทะจนจำไม่ได้

คาดว่ากลุ่มคนร้ายน่าจะหลบหนีไปทางฝั่งประเทศซีเรีย ส่วนตำรวจตุรกีได้รับคำสั่งให้ปิดกั้นชายแดนและตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด พร้อมระดมกำลังหน่วยป้องกันตนเองในชุมชนมาเป็นกำลังเสริม อีกหลายชั่วโมง

ต่อมา นายเบเซอร์ อตาเลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตุรกีแถลงว่า ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้ว 8 คนพร้อมอาวุธเมื่อกลางดึกวันเดียวกัน และกำลังเร่งสอบสวนอยู่ว่าเป็นใครบ้าง โดยการโจมตีครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นการก่อการร้ายโดยกบฎแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม พรรคแรงงานแห่งเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) แต่คาดว่าเป็นการจองเวรกันระหว่างตระกูลผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่อาฆาต พยาบาทหรือขัดผลประโยชน์กัน สอดคล้องกับการรายงานของสื่อ ท้องถิ่นที่ระบุว่า ใน 2-3 ปีหลัง เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างตระกูลผู้มีอำนาจในหมู่บ้านแห่งนี้


หนังสือพิมพ์เฮริเยตต์ของทางการตุรกีรายงานเพิ่มเติมว่า สมาชิกครอบครัวรวมทั้งบิดาของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างเป็นสมาชิกกองกำลัง ป้องกันหมู่บ้าน (Village Guard) ของชุมชนชาวเคิร์ดทางภาคใต้

โดยกองกำลังดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตุรกีเพื่อต่อสู้กับกบฏพี เคเค ซึ่งต่อสู้เพื่อปลดแอกชาวเคิร์ดชนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นฝีมือของพีเคเค อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ต่อสู้กับกลุ่มพีเคเค กองกำลังป้องกันหมู่บ้านกลับถูกโจมตีเช่นกันว่าใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มชักใยอยู่เบื้องหลัง ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างผู้มีอิทธิพลในชุมชน การโจมตีครั้งนี้จึงอาจเป็นศึกแย่งชิงผลประโยชน์ก็เป็นได้

หลังเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีเทย์ยิป เออร์โดแกน และนายซาดุลเลาะห์ เออร์กิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแห่งตุรกี เดินทางไปยังที่เกิดเหตุและเข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตพร้อมรับปากว่าจะเร่งสอบสวนคดีอุกอาจอย่างเร็วที่สุด เพราะเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในรอบ หลายปี ถือป็นภัยต่อนโยบายรักษาความมั่นคงภายในประเทศทั้งนี้ กบฏพีเคเคจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลตุรกีมาตั้งแต่ปี 2527 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 40,000 คน และเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มพีเคเคได้ก่อเหตุโจมตีรถคุ้มกันของกองทัพ ทำให้มีทหารเสียชีวิต 9 นาย ถือเป็นการก่อเหตุครั้งล่าสุดเพื่อตอบโต้รัฐบาลตุรกีซึ่งมีมาตรการการปราบ ปรามพีเคเคด้วยความเข้มงวดและเด็ดขาด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์