กรมอุตุฯคาดการณ์ฝนปีนี้เยอะเตือนรับมือภาวะน้ำท่วม



นายสมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากการคาดหมายลักษณะอากาศของฤดูฝนของไทย พบว่าปีนี้จะมีฝนเยอะ เนื่องจากปรากฎการณ์ลานิญาที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งขณะนี้มีกำลังอ่อนลงไปแล้ว แต่ยังคงมีผลให้เกิดฝนได้ รวมทั้งปัจจัยจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและ กระแสน้ำ ทำให้ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค.นี้ โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มพัดนำความชื้นเข้าปกคลุมมีร่องฝนใน เขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะส่งผลทำให้มีฝนตกหนักจนถึงเดือนมิ.ย.


พบว่าโอกาสที่พายุหมุนเขตร้อนอย่างน้อย 2-3 ลูกที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก หรือจากทะเลจีนใต้

ที่อาจเคลื่อนตัวผ่านมาทางทิศตะวันตก และขึ้นฝั่งที่เวียดนามเข้าสู่ไทยตอนบน หรืออาจเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ของไทย โดยมีแนวโน้มสูงสุดที่จะเคลื่อนผ่านไทย ในช่วงเดือนส.ค. - ก.ย. และผ่านภาคใต้ในเดือนต.ค. - พ.ย.ได้


ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะเผชิญภาวะน้ำท่วมจากฝนที่ มีมาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมรับมือกันไว้ล่วงหน้า

วันเดียวกันจากเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลกระทบประชุมจากเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. ถึง 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่ สำหรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพื่อมาแทนหรือปรับปรุงเพิ่มเติมพิธีสารเกียวโตที่จะสิ้นสุดพันธกรณีในปี ค.ศ. 2012 หรือ AWG on Further Commitments for Annex-I Parties under Kyoto Protocol (AWG-KP) ครั้งที่ 7 และการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ที่เรียกว่า AWG on Long Term Cooperative Action (AWG-LCA) ครั้งที่ 5 ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมัน

นายบัณฑูร กล่าวว่า ในที่ประชุมชุดแรกมีรายงานเรื่องความสำเร็จเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโต ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งเป้าเอาไว้ว่า ระหว่างปี 1999-2009 ประเทศพัฒนาแล้วที่รับพันธกรณีจะต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 14% ของปริมาณที่ผลิตภายในประเทศเมื่อเทียบกับปี 1990 พบว่า ส่วนใหญ่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ มีบางประเทศเท่านั้นที่ยังไม่สามารถทำได้ เช่น เดนมาร์ก ส่วนการประชุมในส่วนของยูเอ็นเอฟซีซีซี มีสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะดำเนินการ 2 เรื่อง เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกคือ 1. พยายามเจรจาให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการลดปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกลงด้วย โดยเฉพาะประเทศจีน และอินเดีย และ 2. ภายในปี 2020-2050 สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 80% โดยแบ่งเป็นกิจกรรมภายในประเทศ 50% และนอกประเทศอีก 30%

"ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยโดยตรงคือ ต่อไปประเทศสหรัฐอเมริกาต้องปรับตัวเองเรื่องการซื้อขายนำเข้า และส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ จะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตแล้วไม่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 0.5% ซึ่งสินค้าที่ส่งไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องปรับกระบวนการใหม่ทั้งหมด มิฉะนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้มาตรฐานสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอยู่ที่ 0.7% เท่านั้น ” นายบัณฑูร กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์