ฉากชีวิตพิษเศรษฐกิจ จากผู้บริหารถึงโสเภณี


ผลกระทบ วิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินโลกทรุดข้ามปียังปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อ 2-3 วันก่อน โดมินิก สเตราส์ คาห์น ประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ "ไอเอ็มเอฟ" ออกมาเตือนรอบใหม่ ว่าปัญหาเศรษฐกิจ-การเงินทั่วโลกคงไม่เลิกราง่ายๆ

หนึ่งในสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากยอดขาดทุนสะสมในภาคธนาคาร รวมถึงสถาบัน การเงินต่างๆ ของชาติมหาอำนาจ "สหรัฐ อเมริกา" ซึ่งสูงถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 98 ล้านล้านบาท!

ขณะเดียวกัน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของชาติใหญ่ๆ ในอเมริกาเหนือ-ยุโรป ก็ส่อเค้าติดลบระนาว

จนถึงสิ้นปี 2552 ตัวเลขอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะน้อยกว่าการประเมินก่อนหน้า โดยลดลงมาเหลือแค่ร้อยละ 1.3

นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟพยากรณ์ด้วยว่า แม้รัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพัฒนาแล้วจะอัดฉีดเงินช่วยเหลือเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่การฟื้นตัวไม่มีเสถียรภาพดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 2553 เศรษฐกิจโลกน่าจะโงหัวขึ้นได้บ้าง และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 หรืออาจมากกว่านั้น

ถ้าทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่มีตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีนกับอินเดีย ออกนโยบายใช้กลไกการเงิน-การคลังแก้ไขวิกฤตต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับแผนส่งเสริมการใช้จ่ายในหมู่ประชาชน

ภาพสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจดิ่งหัวลากยาวนั้นพอมองเห็นเป็นรูปธรรมผ่านการดิ้นรนของผู้เกี่ยวข้องในแวดวง "ธุรกิจทุกระดับ" ดังที่ตกเป็นข่าวตลอดสัปดาห์

เริ่มจากทวีปอเมริกา ชาวบ้านอเมริกันทั่วไปต่างรู้สึกถึงความร้ายแรงของวิกฤตการเงินอย่างชัดเจน เมื่อนายเดวิด เคลเลอร์แมนน์ วัย 41 ปี ผู้บริหารฝ่ายการเงินประจำธนาคารปล่อยสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ "เฟรดดี แม็ก" ก่อคดีฆ่าตัวตายจบชีวิตใต้ถุนบ้านพักรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อ 22 เม.ย.

เบื้องต้นคาดว่านายเดวิดคิดสั้นเพราะเครียดจัด หาทางกอบกู้ เฟรดดี แม็ก ซึ่งตนเองร่วมทำงานมานาน 16 ปีไม่สำเร็จ หลังจากจวนเจียนล้มละลายเต็มแก่จนรัฐบาลกลางต้องเข้าเทกโอเวอร์ เพราะเจอพิษหนี้สูญจากวิกฤต "ซับไพรม์"

ถัดมาอีกวันเดียว "จีเอ็ม" ค่ายรถยนต์เบอร์ 1 ซึ่งใกล้ล้มละลายเช่นกันแถลงยอมรับว่า ต้องสั่งปิดโรงงานเกือบทั้งหมดในสหรัฐตลอดฤดูร้อนนี้ ภายหลังทนแบกสต๊อกรถที่ขายไม่ออกต่อไปไม่ไหว จำต้องหาทางระบายสินค้าโดยด่วน

ด้านบริษัท "ไมโครซอฟท์" เจ้าพ่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งเมืองเรดมอนด์ ประกาศสำทับตามมาว่า สภาพตลาดคอมพิวเตอร์ซบเซา ส่งผลรายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้หายไปมโหฬารร้อยละ 32

นับเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟต์ขาดทุนต่อเนื่องชนิดปีชนปี และมีแผนต้องโละคนออกอีก 5,000 ตำแหน่ง

ข้ามมาทวีปยุโรป ดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกมรสุมเศรษฐกิจ ก็คือ กลุ่ม "อุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศ" แดนเยอรมนี เปิดเผยว่า กิจการซบเซาไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ ลูกค้าไม่กล้าใช้เงินเที่ยวมือเติบเหมือนก่อน!

ปัจจุบัน บรรดาสถานบริการจึงต้องคิดโปรโมชั่นใหม่ๆ อุตลุด เช่น ยอมหั่นราคา เสนอขายแพ็กเกจแบบเหมาดื่มกินเที่ยวและมีเซ็กซ์ตลอดวัน และให้บริการจัดรถรับส่งถึงที่ และลดราคาพิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุ-คนขับแท็กซี่

การขายบริการในเยอรมนีเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย แต่ละปีทำรายได้มหาศาล 18,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.3 แสนล้านบาท แต่นาทีนี้อาชีพเก่าแก่สุดๆ ในโลกก็ยังหนีพายุเศรษฐกิจซัดกระหน่ำไม่พ้น!

ส่วนในทวีปเอเชีย แม้ไอเอ็มเอฟชี้ว่าจีดีพีชาติพี่ใหญ่อย่าง "จีน" จะยืนแดนบวกแถวๆ ร้อยละ 6-7 เพราะฐานจีดีพีปีก่อนขยายตัวสูงมาก

แต่สถิติ "คนว่างงาน" กลับเพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาจีนชี้ว่า แรงงานอพพยจากชนบทเข้าสู่เขตเมืองตกงานไปแล้ว 30 ล้านคน และปัญหานี้ก็ปูดออกมาให้สังคมจีนได้สะเทือนใจกันทั้งชาติ เมื่อพี่น้องหนุ่มแซ่ "จาง" ตัดสินใจก่อเหตุใช้มีดจ่อคอหอยจับหญิงสาวบนถนนย่านไป่หยุน เมืองกวางโจว เป็นตัวประกันดื้อๆ เมื่อวันพุธ ร้องไห้ฟูมฟายเรียกเงินค่าไถ่ 1 แสนบาท หวังนำไปรักษาแม่นอนป่วยหนักรอผ่าตัด

เคราะห์ดีตำรวจเกลี้ยกล่อมนายจางปล่อยตัวเหยื่อสำเร็จ แต่ไม่มีรายงานเพิ่มเติมถึงชะตากรรมของผู้ก่อเหตุและแม่

ปี "เศรษฐกิจเผาจริง" คงจะยิ่งผ่านไปได้ยากกว่าเดิม ถ้าคนเราไม่พยายามใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์