แนะผู้หญิงสังเกตใจตัวเอง สกัดอารมณ์เสีย-ซึมเศร้า


สัปดาห์ก่อนมีงานเสวนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจของผู้หญิงโดยตรง 2 งาน

งานแรกเป็นการเสวนาเรื่อง "ผู้หญิงแกร่ง 2009" ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มีการเปิดตัวเลขผู้หญิงป่วยซึมเศร้าในปี 2551 พบว่า มีมากกว่าผู้ชายในอัตราถึง 2 ต่อ 1 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าปีค.ศ.2020 ผู้ป่วยซึมเศร้าจะพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สาเหตุที่ส่งผลให้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย อาจเกิดได้จากการเลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเก็บตัว สมยอม ไม่โต้ตอบ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าเพศชายที่มักแสดงออกทางอารมณ์มากกว่า เมื่ออยู่ในวัยเจริญเติบโตมีครอบครัว สังคมไทยปัจจุบันผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ดูแลภาระครอบครัวไปพร้อมกับทำงานนอกบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดได้มากกว่า และยังมีผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

สำหรับผู้หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด พบว่าตัวเลขสูงถึง ร้อยละ 15 ซึ่งส่งผลต่อเด็กที่มีมารดาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะมารดาจะมีพฤติกรรมแยกตัว ไม่สนใจเลี้ยงดูบุตร มีการสื่อสารกับเด็กน้อย หรือสื่อสารอย่างไม่เป็นมิตร ทำให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์ ไม่มั่นใจต่อความผูกพันของแม่ และมีพัฒนาการทางสติปัญญาลดลง นอกจากนี้ ปัญหาการถูกคุกคามและทารุณทางเพศ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในเพศหญิงขึ้นได้ เพราะจะรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองลดลง โทษตัวเอง และแยกตัวเองออกจากสังคม


ที่น่าเป็นห่วงคือ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า รวมทั้งคนรอบข้างก็ไม่ทราบและคิดว่าเป็นคนขี้เกียจ หรืออ่อนแอเท่านั้น ซึ่งโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา หรือการรักษาด้วยจิตบำบัด ซึ่งขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลใกล้บ้าน

สำหรับอีกงานที่มีเนื้อหาสอดรับกัน เป็นการเสวนาเรื่อง "สตรีไทยห่างไกลวิกฤตทางอารมณ์ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกับ 24/4" จัดที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท

พ.ญ.นันทา อ่วมกุล ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากเผชิญกับภาวะเครียด หงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยผลสำรวจของสวนดุสิตโพล เรื่อง "ภาวะทางอารมณ์และประสบการณ์เกี่ยวกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในสตรี" พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.20 มีอาการไม่พึงประสงค์ก่อนมีประจำเดือน

ศ.น.พ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome : PMS ) คืออาการทางกายและใจที่เกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ในช่วงเวลา 5-10 วัน ก่อนมีประจำเดือน อาการจะดีขึ้นและหายไปหลังประจำเดือนมาแล้ว สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในระหว่างรอบประจำเดือน ฮอร์โมนจะลดต่ำลงก่อนมีประจำเดือน ความรุนแรงของอาการแต่ละคนขึ้นลงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ เช่น ลักษณะการใช้ชีวิต ความเครียด และกรรมพันธุ์

อาการหลักๆ ที่เป็นกันมากคือ คัดตึงเต้านม แขนหรือขาบวม ปวดศีรษะไมเกรน ท้องอืด น้ำหนักขึ้น อยากอาหารมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ เครียด วิตกกังวล

"หากมีอาการแล้วยังเข้าสังคมได้ ถือเป็นเพียงกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน แต่หากเป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง (Premenstrual Dysphoric Disorder : PMDD) จะมีความรุนแรงมากกว่า PMS เช่น ซึมเศร้าอย่างรุนแรง กังวลมาก เครียดอย่างรุนแรง อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจนเข้าสังคมไม่ได้ บางรายอาการรุนแรงมากจนรู้สึกว่าจะคุ้มคลั่ง โดยถือว่าเป็นโรคต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ด้วยการใช้ยาปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องพบจิตแพทย์และใช้ยากล่อมประสาท รักษาอาการซึมเศร้า" ศ.น.พ.สุรศักดิ์ กล่าว

สำหรับวิธีปฏิบัติที่แก้ไขอาการนี้คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ พักผ่อนให้เพียงพอ บริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เน้นคาร์โบไฮเดรตที่มีไฟเบอร์สูงมากขึ้น เช่น ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮสวีต เพราะอาหารเหล่านี้ใช้เวลาย่อยนานกว่า ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ลดอาหารเค็มจัดหรือมีเกลือสูง ลดเครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงความเครียด แต่หากยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ต่อไป

น.พ.สุกมล วิภาวีพลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ แนะนำว่า ผู้หญิงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องภาวะทางอารมณ์ที่อาจมาจากอาการก่อนมีประจำเดือน เพราะอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เพราะร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียด ทำให้นอนไม่หลับ ปวดเกร็งตามท้ายทอย หัวไหล่ เพราะกล้ามเนื้อเกร็งตัว กระทบต่อการทำงาน เพราะไม่มีสมาธิ ทำให้การงานล่าช้าหรือบกพร่อง กระทบต่อความสัมพันธ์ ทั้งเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัว เพราะอารมณ์รุนแรงจะแสดงออกมาทางการสื่อสาร ทำให้คนรอบข้างเครียดไปด้วย ทำให้เป็นคนไม่น่ารักไม่มีเสน่ห์ ไม่มีคนอยากอยู่ใกล้ หากมีอาการผิดปกติกับตนเองควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อให้ตนเองเป็นผู้หญิง "อารมณ์สวย" อยู่เสมอ

นอกจากนี้ กรมอนามัย ร่วมกับ ไบเออร์ เชริง ฟาร์มา จัดทำแบบทดสอบ "ร่างกายและอารมณ์" เพื่อหาคำตอบว่าอารมณ์หงุดหงิดหรือที่เรียกว่า "เหวี่ยง" มาจากอาการหรือนิสัย โดยใช้โค้ดลับ 24/4 คือ การสังเกตอาการผิดปกติ 24 อาการ เป็นเวลา 4 เดือน โดยการจดบันทึกและหากพบว่ามีอาการควรปรึกษาแพทย์ เช่น อาการคัดตึงเต้านม ปวดศีรษะไมเกรน เครียด อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยง่าย ซึมเศร้าและวิตกกังวลอย่างชัดเจน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ จะเกิดก่อนมีประจำเดือนจึงถือว่าเป็นความผิดปกติทางฮอร์โมน ดาวน์โหลดคู่มืออารมณ์ดี 24/4 ได้ที่ www.24-4secret.com

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์