การเมืองวุ่นปิดทางกู้เศรษฐกิจ

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า

หากพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.ยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐที่จ่ายคล่องขึ้นมากใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552
และการส่งออกสุทธิที่เป็นบวกต่อเนื่องใน 2 เดือนแรกของปีมีโอกาสช่วยประคองเศรษฐกิจไทยจากนี้ให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้นและอาจจะไม่ดิ่งลงมาก
แต่ยอมรับว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เริ่มเห็นแวบๆ ในขณะนี้อาจจะดับลงได้อีกครั้ง หากสถานการณ์ ทางการเมืองที่ตึงเครียดในขณะนี้ยืดเยื้อ และกลายเป็นก้อนหินก้อนใหม่ที่บังแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้ หายไปได้

โดยรายได้ของเกษตรกรไทยในเดือน ก.พ.นี้ปรับ ตัวลดลงมาก ติดลบ 0.8% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ลดลงมาก
 
สอดคล้องกับดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลง 7.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 4.8% เทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ 12.9% เนื่องจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งปัจจัยจากภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังติดลบต่อเนื่อง 23.2% ขณะที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 57.7% ลดลงจาก 70.8% ในช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนั้น การขยายตัวของสินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงจาก 9% ในเดือน ม.ค. ลงมาเหลือ 6.8% ในเดือน ก.พ. แสดงถึงความฝืดเคืองทางการเงินที่มีเพิ่มขึ้น
 

การปรับตัวของภาคเอกชนหันมาใช้สินค้าคงคลังเดิมผลิตมากขึ้นทดแทนการนำเข้า และการปรับกำลังการผลิตในสอดคล้องกับกำลังซื้อในปัจจุบัน

ได้ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ติดลบในอัตราที่ชะลอตัวลงอยู่ที่-19.8% จากยอดติดลบ 21.2% ในเดือนก่อนหน้า แต่การใช้กำลังการผลิตลดลงอยู่ที่ 55.4% จาก 57.1% ในเดือนก่อนหน้า แต่ข้อดีคือเริ่มเห็นการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่เพิ่มขึ้น และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ ประชาชนเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ 5 เดือนแรกปีงบ ประมาณ 2552 รัฐบาลมีการเบิกจ่าย 706,000 ล้านบาท หรือ 38.5% ของงบประมาณ เทียบกับการเบิกจ่าย 614,600 ล้านบาท หรือ 37% ในปีงบประมาณก่อน
แต่การจัดเก็บรายได้เดือน ก.พ.ลดลง 16.1% โดยภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง 25.2%

ภาคการส่งออกในเดือน ก.พ.ขยายตัวติดลบ 11.1% เนื่องจากมีการส่งออกทองคำมากถึง 1,865 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำการส่งออกในเดือน ก.พ.จะติดลบ 24.5% ขณะที่การนำเข้าติดลบมากถึง 43.5%

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าการนำเข้าที่ลดลงนั้นเกิดขึ้นจากความพยายามลดสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการที่นำเข้ามามากในช่วงก่อนหน้าทำให้ลดการนำเข้าลง และเมื่อสต๊อกหมดและมีการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 

ทั้งนี้ นางอมรากล่าวว่า

การนำเข้าที่ลดลงมากในขณะที่การขยายตัวของการส่งออกปรับตัวดีขึ้นใน 2 เดือนแรกของปีได้ส่งผลให้ประเทศมีเงินรายได้จากการส่งออกสุทธิสูงขึ้นมาก โดยในเดือน ก.พ.ดุลการค้าของไทยเกินดุล 3,946 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ดุลบริการบริจาคเกินดุล 474 ล้านเหรียญฯ ทำให้ดุลบัญชี เดินสะพัดเกินดุล 4,418 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าสูงมาก อย่างไรก็ตาม การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศยังเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยไหลออก 500 ล้านเหรียญฯ ในเดือน ก.พ.ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 3,621 ล้านเหรียญฯ

“การส่งออกสุทธิที่เป็นบวกต่อเนื่อง 2 เดือน ทำให้มีเงินเข้าประเทศมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งขึ้น น่าจะช่วยให้ระยะต่อไปมีการหมุนเวียนของเงินในระบบมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยให้ เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีโอกาสที่จะไม่ดิ่งลงไปมากกว่านี้ เพราะในขณะนี้เห็นการปรับตัวของภาคเอกชน ซึ่งทำให้การชะลอตัวของภาคการผลิตเริ่มลดลงในลักษณะที่ทรงตัว”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า

เป็นห่วงสถานการณ์ ทางการเมืองที่ตึงเครียดมากขึ้น เพราะจะกระทบให้ เศรษฐกิจแย่ลงอีก แต่การเมืองจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปมากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นใจของประชาชนว่าชินกับการชุมนุมหรือยัง ขณะที่จากการสำรวจนักธุรกิจยอมรับว่าการเมืองเป็นปัจจัยลบต้นๆที่ทำให้ไม่ลงทุนในขณะนี้ และคงไม่ดีนักหากการเมืองจะทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เริ่มเห็นจากความมุ่งมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลถูกบดบังไปอีกครั้ง ทั้งนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของ ธปท.เดือน เม.ย.นี้ แม้ว่าไม่มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การประมาณการเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวติดลบอยู่แล้ว และหากมีปัจจัยการเมืองมาแทรกอาจจะทำให้การขยายตัวแย่ลงอีกได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์