เตือนเก็บปืนให้ดี หวั่นซ้ำเด็กฆ่าตัว


พม.เตือนพ่อแม่เลี้ยงดูลูกให้ดี สร้างครอบครัวอบอุ่น ให้เวลากับลูก ป้องกันเด็กคิดสั้นฆ่าตัวตาย แนะเก็บอาวุธทุกชนิดให้ดี

โดยเฉพาะปืนไว้ให้มิดชิด อย่าล่อหูล่อตา หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยเด็กยิงตัวดับที่อยุธยา ส่วนบรรยากาศงานศพ ครู เพื่อนนักเรียนร่วมงานคับคั่ง พ่อเสียใจ ไม่รู้สาเหตุเกิดจากอะไร ด้านนักจิตวิทยาชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย แนวโน้มคนไทยฆ่าตัวตายพุ่ง

จากกรณีด.ช.วศิน ควรรู้ อายุ 13 ปี นักเรียนที่จบชั้นป.6 กำลังเตรียมเข้าเรียนชั้นม.1 ใช้ปืนลูกซองยาวยิงเข้าหน้าอกตัวเองจนเสียชีวิต สาเหตุเพราะน้อยใจ นายวสันต์ ควรรู้ อายุ 35 ปี บิดาให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ที่วัดทุ่งชาน ต.ดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา สถานที่ตั้งศพด.ช.วศิน คณะครูและเพื่อนนักเรียนของโรงเรียนที่ด.ช.วศินเรียนเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ นอกจากนี้ ยังมีผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาร่วมงานจำนวนมาก โดยจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมไปจนถึงวันที่ 24 มี.ค. และจะฌาปนกิจในวันพุธที่ 25 มี.ค. เวลา 16.00 น.

ด้านนายวสันต์ ผู้เป็นพ่อ เปิดเผยว่า ตนเสียใจอย่างมาก ไม่อยากพูดอะไรอีกแล้ว ลูกเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนสาเหตุไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร เพราะลูกชายเสียชีวิตไป เด็กอาจจะน้อยใจบ้าง ไม่คิดว่าความคิดของลูกชายช่วงนั้นคิดอย่างไร เด็กไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่หวังดี อยากให้ลูกได้เรียนในที่ดี ใกล้ชิดกับครอบครัว จะได้ดูแลกันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทุกคนในครอบครัว ทั้งปู่ย่าและภรรยาต่างเสียใจกันมาก

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ลูกไปสบายแล้ว ตนมีลูกชายคนนี้คนเดียว เมื่อลูกจากไป ครอบครัวเหมือนขาดคนไปหนึ่งคน เคยหวังไว้ในอนาคต ลูกโตขึ้นจะช่วยกันทำมาหากิน แต่เมื่อจากไป ตนและครอบครัวต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพและจะยังขายเต้าหูทอดต่อไปเหมือนเดิม ตามตลาดนัดในย่านตลาดลาดกระบัง กทม.

พ.ต.อ.อดุลย์ เม่นบางผึ้ง ผกก.สภ.ภาชี กล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนสอบพยานซึ่งเป็นญาติจำนวน 10 ปาก ต่างให้การสอดคล้องกันว่า ด.ช.วศินขึ้นไปบนบ้าน หยิบปืนของปู่ที่วางไว้ในห้องยิงตัวเองเสียชีวิต ไม่มีผู้ใดทำให้ด.ช.วศินเสียชีวิต เป็นการฆ่าตัวตายเอง ส่วนอาวุธปืนมีทะเบียนถูกต้อง ดังนั้น คดีนี้จึงสรุปได้ ซึ่งคืนวันนี้ตนพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางไปร่วมงานศพเพื่อแสดงความเสียใจกับครอบครัวของด.ช.วศิน และจะให้กำลังใจแก่พ่อและครอบครัวได้ต่อสู้กับชีวิตต่อไป

วันเดียวกัน นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีเด็กชายวัย 13 ปี ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ยิงตัวตายหลังถูกพ่อบังคับให้ไปเรียนต่อที่กทม.นั้นว่า ปัญหาในครอบครัวเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่พ่อแม่ต้องไปทำงานในกทม. เด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายายที่บ้านต่างจังหวัด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น เด็กจะผูกพันกับปู่ย่าตายายมากกว่าพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่จะพาลูกไปอยู่ด้วย ทำให้ลูกไม่อยากไป เด็กอยู่ในช่วงเริ่มต้นเป็นวัยรุ่น มีเพื่อนและติดเพื่อน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อห่างพ่อแม่ ปู่ย่าตายายก็ไม่มีเวลาดูแล เด็กอยู่กับเพื่อนอาจลองเรียนรู้ ทั้งสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพยา เล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ตได้ เมื่อพ่อแม่บังคับ อาจทำให้เด็กคิดสั้นได้ เพราะวัยนี้เด็กจะอ่อนไหว ตนอยากตำหนิผู้ปกครองที่มีอาวุธปืน แม้เอาไว้ป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน แต่ไม่น่านำอาวุธปืนมาเก็บไว้ล่อตาเด็ก เพราะเด็กอาจได้รับอิทธิพลจากการเล่นเกมยิงกัน ฆ่ากัน เมื่อเด็กเห็นปืนวางไว้ล่อตา ก็จับปืนขึ้นมาโดยอาจไม่รู้อานุภาพของมัน

"พ่อแม่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงที่ปล่อยให้เด็กหยิบฉวยปืนได้ ซึ่งเด็กอาจไม่ได้ตั้งใจ อาจลองดูหรือเป็นการยิงประชด อยากฝากถึงพ่อแม่ที่มาทำงานในเมืองใหญ่ว่า เงินไม่ได้แก้ปัญหาครอบครัวได้ทุกอย่าง แม้เงินจำเป็น แต่ต้องใกล้ชิดลูก อย่าไปฝากความหวังกับครูหรือพ่อใหญ่แม่ใหญ่ โดยเฉพาะกับเวลาอยู่กับโรงเรียนที่เด็กใช้เวลาอยู่ด้วยแค่ 1 ใน 3 ของวัน ยิ่งช่วงเด็กปิดเทอม สำคัญต้องอยู่กับครอบครัว 24 ช.ม. พ่อแม่ต้องให้ความอบอุ่น หากปล่อยลูกไปอย่างนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นอีกมาก" รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าว

วันเดียวกัน น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ.สำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะมีอารมณ์ ความรู้สึกละเอียดอ่อนมาก ผู้ปกครองและคนใกล้ชิดจำเป็นต้องระวังความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ แม้เป็นเรื่องที่คนอื่นคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กบางคนได้ จำเป็นต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล อธิบายถึงผลดีผลเสีย และรับฟังเด็กให้มาก หากมีปฏิกิริยาหรือการต่อต้านเกิดขึ้น จำเป็นต้องอธิบายและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดทีละนิดด้วยความเข้าใจ

"เด็กบางคนอาจมีปัญหาเรื่องการปรับตัว การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม บางครั้งเข้าข่ายเป็นโรคภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) คือ จะมีความสามารถในการปรับตัวต่ำ บางครั้งพบในผู้สูงอายุได้ด้วย แสดงอาการหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ดื้อ ใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรง อาการเหล่านี้ บอกได้ยากว่าเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มใด ต้องใช้การสังเกตเฝ้าระวังอาการที่ผิดปกติไป" น.พ.ทวีศิลป์ กล่าว

น.พ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องการเก็บอาวุธปืน ควรเก็บให้พ้นมือและลับตาเด็ก เพราะปัจจุบันมีกรณีการใช้ความรุนแรงที่นำอาวุธปืนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเด็กอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้ตั้งใจ แต่การที่เด็กสัมผัสอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นปืน มีด หรืออาวุธอื่นๆ อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้ เพราะเด็กยังถือว่ามีวุฒิภาวะต่ำ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ด้านนายนิตย์ ทองเพชรศรี เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.สงขลา กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สำหรับกรณีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมฆ่าตัวตายเพราะอกหักและติดยา และกรณีเด็กชายชาวจ.พระนครศรีอยุธยาฆ่าตัวตาย จากการที่พ่อบังคับให้ไปเรียนที่กทม.นั้น ส่วนตัวเห็นว่าทั้งสองคนอาจมีปมบางเรื่องอยู่ในใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อต้องพบกับเรื่องราวที่บีบคั้นจิตใจเพิ่มเติม กอปรกับการไม่มีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ จึงหาทางออกของปัญหาไม่ได้ อยากแนะนำบุคคลทุกวัยที่ต้องประสบปัญหา ไม่ว่าเรื่องใด อยากให้คิดว่าเราต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะทุกคนล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องรักชีวิตตนเองก่อนที่จะไปรักคนอื่น

"สิ่งที่คนในครอบครัวควรปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีคนในครอบครัวฆ่าตัวตายต้องเริ่มจากการพูดจากันในลักษณะที่ให้แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด เว้นการด่าทอที่มีลักษณะดูถูก หรือเหยียดหยามเกียรติ จนทำให้อีกฝ่ายน้อยใจ และสังเกตบุตรหลานหากเห็นการเศร้าซึมผิดปกติ หรือชอบหมกมุ่นอยู่คนเดียว ควรเข้าไปพูดจา ถามไถ่เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนฆ่าตัวตาย" นายนิตย์กล่าว

นายนิตย์ กล่าวอีกว่า จากการทำวิจัยเรื่อง "ปัจจัยด้านครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับการพยายามฆ่าตัวตายของประชาชนจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย" โดยวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากครอบครัวผู้พยายามฆ่าตัวตายทุกอำเภอของ จ.ตรัง จำนวน 30 ครอบครัว และครอบครัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน จำนวน 30 ครอบครัว

พบว่าปัจจัยภายในครอบครัวที่มีผลต่อการพยายามฆ่าตัวตายอย่างมาก คือ

1.การสื่อสารในครอบครัวที่ไม่เข้าใจกัน ใช้คำพูดที่รุนแรง คำด่าทอ เช่น "มึงโง่" โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มักได้ฟังคำพูดจากพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือญาติว่า "อยู่ไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใคร ให้ไปตายเสีย" คำพูดเหล่านี้อาจสร้างความน้อยใจให้เกิดขึ้นกับบุตรหลานโดยที่ไม่มีใครรู้

2.สัมพันธภาพในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกหรือคนในครอบครัวเดียวกันไม่มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันและกัน และไม่มีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของแต่ละคน จึงไม่สามารถช่วยกันคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การคิดว่าหาทางออกไม่เจอของใครคนใดคนหนึ่ง จนคิดแก้ปัญหาในทางที่ผิดด้วยการฆ่าตัวตาย

3.วิธีการเลี้ยงดูแบบกดขี่ การสั่งการ โดยพ่อแม่มักคิดเองว่าลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ฟังความต้องการหรือความคิดเห็นของอีกฝ่าย

4.การปรับตัวของสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาเศรษฐกิจและความเครียด เกิดการแสดงออกหรือมีท่าทีที่ทำให้สัมพันธภาพของคนในครอบครัวห่างไกลกันมากขึ้น และ

5.บทบาทของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกบางคนอาจรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในครอบครัวต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกตอกย้ำความไร้ค่าจากสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเดียวกัน

นายนิตย์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการฆ่าตัวตายของคนไทยในทุกจังหวัดเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างปัจจุบัน คาดการณ์ว่าอาจจะเพิ่มขึ้นราว 1% ต่อแสนประชากร จากเดิมอยู่ที่ 4.5% ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 5.5% ต่อแสนประชากร

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์