ปฏิบัติการฝนหลวงอีสานล่างเริ่มทำฝนหลวงช่วยแล้ง

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (10 มี.ค.)  นายประเสริฐ อังสุรัตน์ หันหน้าศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นครราชสีมา กล่าวว่า  ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงฯ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่การทำฝนหลวงใน 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง

ประกอบด้วย นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร และอำนาจเจริญ วันนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างพบว่า สภาพอากาศร้อนมากแดดจัดทำให้ประชาชนประสบปัญหาความแห้งแล้ง จึงต้องเริ่มทำฝนหลวงช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นวันแรก โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดอีสานใต้ที่มีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายหนักและมีการร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา
  

ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงฯได้ประสานขอเครื่องบิน บีที 67 จากกองทัพอากาศ เพิ่มอีกจำนวน 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ลำเข้ามาช่วยปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือราษฎรอย่างทั่วถึง โดยทำการขึ้นบินทำฝนหลวงสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 2 เที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยในแต่ละเที่ยวบินจะบรรทุกสารเคมีในการทำฝนหลวงจำนวน 2.5 ตัน ขึ้นไปโปรยบนท้องฟ้าที่มีกลุ่มเมฆเกาะกันและมีความชื้นเหมาะสมบริเวณที่เป็นเทือกเขาเพื่อให้เกิดฝนตกลงมายังพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการทำฝนหลวงจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งหากสภาพอากาศเหมาะสมการทำฝนหลวงก็จะเกิดปริมาณน้ำฝนดี และจากสภาพอากาศในช่วงนี้คาดว่าการทำฝนหลวงจะประสบผลสำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 70นายประเสริฐ กล่าว
 

ส่วนที่ จ.นครพนม นายสมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี


การแจกน้ำดื่มนั้นเป็นการช่วยเหลือปลายเหตุเท่านั้น ดังนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม จึงมีมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างถาวร ในปีนี้มีการอนุมัติงบในเบื้องต้นกว่า 20 ล้านบาท มุ่งเน้นขุดลอกแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็กตลอดจนลำห้วยที่ตื้นเขิน เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนที่มีจำนวนมากเอาไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง และยังสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำประปาประจำหมู่บ้านให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน 
 

ที่จ.ศรีสะเกษ นายศักดิ์สิน กุลบุตรดี สาธารณสุขอำเภอศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนอากาศจะร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคบางอย่างเจริญเติบโตได้รวดเร็ว


อาหารการกินเก็บไว้ไม่ได้นานก็จะเกิดการบูดเน่าได้อย่างรวดเร็ว ก็จะให้มีเชื้อโรคระบาดหากรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรค บูดเน่าเสีย หรือปนเปื้อนฝนละอองของดินที่ถูกลมพัดพามาตกลงในภาชนะบรรจุอาหาร ถ้ารับประทานก็จะทำให้ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ซึ่งหากรักษาไม่ถูกวิธีและทันเวลาอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงฝากเตือนให้ระวังในการรับประทานอาหารในช่วงนี้ ต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อย่าเสียดายอาหารที่เก็บไว้นาน ที่สำคัญควรงดอาหารประเภทที่มีรสจัด โดยเฉพาะที่รสเปรี้ยว ซึ่งเสี่ยงในการเกิดอาการท้องเสีย

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์