ตะลึงลูกปัดตาตะกั่วป่า-สุริยเทพคลองท่อมพบที่ไทยแห่งเดียวในโลก! ปลุกกระแสแหล่งท่องเที่ยว


ลูกปัดตาตะกั่วป่า-ลูกปัดสุริยเทพคลองท่อม ผู้เชี่ยวชาญระบุเป็นลูกปัดปริศนา ค้นพบเฉพาะที่ตะกั่วป่าและคลองท่อมเท่านั้น ไม่เคยเห็นที่ใดในโลก ระบุใช้เทคนิคการผลิตขั้นสูง พัฒนามาจากแหล่งอารยธรรม"อียิปต์-กรีก-โรมัน" นายก อบต.เกาะคอเขา หนุนฟื้นฟูแหล่งโบราณคดี"ทุ่งตึก" สร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

 
ความคืบหน้าการขุดค้นพบลูกปัดและเครื่องประดับโบราณนานาชนิดทำด้วยหิน แก้วโมเสค ทองคำ พร้อมอุปกรณ์การผลิต เงินตรานานาชาติ อาทิ เหรียญทองคำของจักรพรรดิแห่งโรมัน เหรียญสำริดราชวงศ์ถังของจีน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และกระบี่ นักโบราณคดีสันนิษฐานเป็นแหล่งการค้าและอารยธรรมเชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตก-ตะวันออกเมื่อสองพันปีที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวภูมิภาค "มติชน" รายงานว่า การค้นพบลูกปัดในแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า "เหมืองทอง" และที่ ต.คลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในแวดวงวิชาการด้านลูกปัดถือว่าเป็นแหล่งสำคัญระดับโลกเนื่องจากมีลูกปัดลักษณะพิเศษ

ที่ อ.ตะกั่วป่า พบลูกปัดแก้วโมเสคตัดแปะด้วยแก้วสีน้ำเงินเข้มและขาวให้เป็นวงคล้ายดวงตาอยู่รอบลูกปัดที่ชาวเกาะคอเขาเรียกว่าลูกปัดตาหรือลุกยอ ส่วนที่ อ.คลองท่อม พบลูกปัดหน้าคนหรือหน้าอินเดียนแดงหรือสุริยเทพ ไม่เคยมีรายงานการพบในที่อื่นๆ ในโลกกลายเป็นปม "ลูกปัดปริศนา"

นายปีเตอร์ ฟรานซิส จูเนียร์ (Peter Francis Junior) ผู้เขียนหนังสือลูกปัดโลก (BEADS OF THE WORLD) ระบุไว้ในหนังสือการค้าลูกปัดทางทะเลระหว่างพุทธศตวรรษที่ 3 จนถึงปัจจุบัน ได้เรียกชื่อลูกปัดที่พบใน อ.ตะกั่วป่า ว่า ลูกปัดตาตะกั่วป่า หรือ Takuapa Eye Beads เนื่องจากพบครั้งแรกที่ตะกั่วป่าและมีปริมาณมาก

นายฟรานซิสตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ลูกปัดตาตะกั่วป่าอาจผลิตที่เกาะคอเขา เนื่องจากพบเศษชิ้นส่วนแก้วที่มีลวดลายตา

ส่วนที่ อ.คลองท่อม นั้น พบลูกปัดหน้าคนหรือหน้าอินเดียนแดงชาวกระบี่เรียกขานในชื่อ ไสุริยเทพคลองท่อม" ไม่เคยมีรายงานการพบในที่อื่นๆ ในโลก ทำให้ลูกปัดชนิดนี้กลายเป็นลูกปัดปริศนาเช่นกัน ทั้งนี้ นพ.เจมส์ แลงค์ตัน (Dr.James W. Lankton) ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยวิวัฒนาการลูกปัด ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งถึง ค.ศ.1200 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแก้วและลูกปัดคนสำคัญของโลกได้ตั้งคำถามว่า ลูกปัด "สุริยเทพคลองท่อม" ผลิตจากที่ไหน ทำไมจึงพบเฉพาะคลองท่อมแห่งเดียวในโลกเท่านั้น

นพ.แลงค์ตันระบุว่า เท่าที่มีการศึกษาเชื่อว่าน่าจะมี "สุริยเทพคลองท่อม" ไม่เกิน 50 เม็ด โดยทั้งหมดที่พบที่คลองท่อมมีลักษณะเหมือนกันมากจนอาจจะเป็นไปได้ว่าทำพร้อมๆ กัน ส่วนจะทำที่คลองท่อมหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนเพียงพอ แต่ไม่น่าจะทำในเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์โบราณที่มีชื่อเสียงในการผลิตแก้วโมเสคตามที่เคยเข้าใจกันมาเพราะเมืองอเล็กซานเดรียหรือที่ไหนๆ ในโลกไม่เคยค้นพบลูกปัดแก้วโมเสคลายหน้าสุริยเทพเหมือนเช่นพบที่คลองท่อม

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญลูกปัด ระบุว่า ลูกปัดแก้วโมเสคทั้งลูกปัดตาตะกั่วป่า และลูกปัดสุริยเทพ "คลองท่อม" ทำด้วยเทคนิคพิเศษชั้นสูง เริ่มพัฒนาครั้งแรกในดินแดนอียิปต์โบราณ อาณาจักรโรมัน และดินแดนตะวันออกกลางโบราณเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน จนกระทั่งแพร่หลายอย่างมากอยู่ระยะหนึ่ง

"การพบลูกปัดเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในด้านการศึกษาค้นคว้าทั้งทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ โบราณคดีตลอดจนการส่งเสริมการผลิตและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หากทางการ ท้องถิ่น และจังหวัดจะร่วมกันนำมาใช้ประกอบการศึกษาส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง" นพ.บัญชากล่าว
 
ผู้สื่อข่าวภูมิภาค "มติชน" รายงานจาก จ.พังงา เพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตกรมศิลปากรเคยสำรวจขุดค้นบริเวณทุ่งตึก ต.เกาะคอเขา เมื่อปี 2546 พบศาสนสถาน 7 แห่ง และบ่อน้ำ 1 แห่ง อยู่ในบริเวณพื้นที่ราว 100 ไร่ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นำทรายไปถมกลบโบราณสถานไป 7 แห่ง เหลือเพียงโบราณสถานหมายเลข 3 เท่านั้น ที่ติดตั้งป้ายอธิบายลักษณะโครงสร้างของอาคารที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา

นายจักษุ ลิ่มพานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะคอเขา ให้สัมภาษณ์ว่า กรมศิลปากรควรตกแต่งพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีทุ่งตึกให้เรียบร้อย เช่น ทำโครงสร้างเป็นหลังคาคลุมทับ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้าไปเที่ยวชมแต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมให้ชม

"ผมเคยนำนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษมาเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่เพื่อไปพิสูจน์เป็นประจำทุกปี อบต.เกาะคอเขาต้องการให้บริเวณเหมืองทองเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมีคุณค่าในพื้นที่" นายจักษุกล่าว

นายจักษุกล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรและผู้ตรวจราชการกรมศิลปากร พิจารณาจัดสรรและอนุมัติงบประมาณมาให้แล้วประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างโครงการสร้างหลังคาคลุมอาคารโบราณสถานที่ตรวจสอบหรือขุดค้นพบและสร้างศูนย์ข้อมูลประกอบให้ครบถ้วน

นายก อบต.เกาะคอเขา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 ต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยดูแลและจัดฝึกอบรมมัคคุเทศก์เด็กหรือมัคคุเทศก์น้อย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณสถานหรือโบราณคดี จากสำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นผู้ให้ความรู้และข้อมูล

"ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เกาะคอเขายังไม่ค่อยเข้าใจในคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก ในแง่ของการศึกษาเรื่องนี้มีน้อยมาก ส่วนผู้ที่รู้ก็เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดพื้นที่บางส่วนเท่านั้น เมื่อชาวบ้านไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าที่จะหวงแหน มักจะเข้าไปขุดค้นและเก็บโบราณวัตถุ สิ่งของมีค่าหรือลูกปัดและนำไปขาย" นายจักษุกล่าว

นายจักษุกล่าวว่า แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก มีเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ แต่ปัจจุบันพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินของภาคเอกชนคลุมทับไปแล้วก็มี

นายจักษุกล่าวว่า ในช่วงปี 2524-2525 ขณะเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีคนจากทั่วสารทิศ เดินทางเข้ามาในพื้นที่เกาะคอเขาเพื่อซื้อขายลูกปัด มีเงินหมุนเวียนวันละหลายแสนบาททีเดียว ได้รายงานปลัดอำเภอตะกั่วป่า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทราบอย่างต่อเนื่องส่วนเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรนั้น ถือว่าเข้ามาในพื้นที่ช้ามากเพราะมีการขุดค้นจนพื้นที่เสียหายไปทั่วบริเวณ

นายจักษุกล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินโครงการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยวในเกาะคอเขาเห็นด้วยกับการพัฒนาปรับปรุงแหล่งที่ค้นพบซากโบราณสถานให้เหมาะสม


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์