ใช้กฎหมายล้มละลายกู้ชีพบินไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโสภณ ซารัมย์ รมว. คมนาคม พร้อมด้วยนายเนวิน ชิดชอบ ที่ปรึกษา

ได้เชิญนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ร่วมหารือเกี่ยวกับการวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังประสบมรสุมรุมเร้ารอบด้าน ทั้งขาดทุนจากการดำเนินงาน และขาดทุนจากการทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าในปีที่ผ่านมา จนทำให้ บริษัทต้องขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงเป็นวงเงินสูงถึง 34,000 ล้านบาท ขณะที่ยังมีภาระต้องกู้หนี้ใหม่ อีกประมาณ 45,000-55,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระคืนหนี้, เสริมสภาพคล่อง และใช้ในการลงทุน 


ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการหารือกับแกนนำคนสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์

อาทิ นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนในอันที่จะเปิดโอกาสให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังร่วมกันแต่งตั้งผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่มีความสำคัญต่อธุรกิจการบินอย่างแท้จริงเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ดใหม่ โดยไม่ให้มีการแต่งตั้งตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปเพื่อให้การแก้ปัญหาภายในการบินไทยสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น โปร่งใส และตรงไปตรงมานั้น


ล่าสุด นายโสภณและนายเนวินได้เสนอมาตรการให้นายกรณ์ ในฐานะ รมว.คลัง หน่วยงานซึ่งถือหุ้นใหญ่การบินไทยถึง 51% พิจารณามาตรการสำคัญ 2 ประการในการแก้ปัญหาการบินไทย

ดังนี้ ประการแรก การบินไทยจำเป็นต้องแยกหน่วยงานทางธุรกิจ (Business Unit) ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ การบินไทยและแข่งขันให้บริการแก่สายการบินอื่นๆได้ โดยไม่ต้องรอการกำกับนโยบายจากการบินไทย ทั้งนี้หน่วยงานที่ควรจะแยก ได้แก่ ครัวการบินไทย คลังสินค้า ฝ่ายช่าง เป็นต้น


มาตรการนี้เคยเสนอให้ฝ่ายบริหารระดับสูงของการบินไทยพิจารณามาแล้ว แต่ก็ต้องตกไปเพราะบรรดาผู้บริหารไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เคยได้รับการร้องขอจากผู้บริหารการบินไทยให้ช่วยแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องให้จากการที่ต้องเจอพิษราคาน้ำมันแพง และการปิดสนามบิน ทำให้ช็อตเงินถึง 20,000 ล้านบาท แต่ สคร. ส่งเรื่องกลับ โดยขอให้การบินไทยไปศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองก่อนจะมาขอรับความช่วยเหลือ “เอะอะอะไรก็จะให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ตลอด ขณะที่ตัวเองไม่ยอมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานใดๆ ที่สำคัญ แค่ยุติการให้บริษัทเอกชนเข้ามากินหัวคิวจากการขายตั๋ว อี-ทิกเก็ต ซึ่งแต่ละปีมียอดขายกว่า 160,000 ล้านบาท การบินไทยก็อาจจะมีเงินสภาพคล่องกลับเข้ามาแล้ว 30,000 ล้านบาทในทันที แต่ก็ไม่ทำ” ผู้บริหารกระทรวงการคลังระบุ


ส่วนประการต่อมาก็คือ ให้ใช้มาตรการที่รุนแรงและเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่าการแก้ปัญหาแบบปกติไม่สามารถช่วยให้การบินไทยพ้นจากสภาพบักโกรกที่หมักหมมมานานได้

โดยเฉพาะในสภาวะที่พนักงานส่วนใหญ่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า ต่างคนต่างก็มีขุมทรัพย์ของตน แม้แต่สหภาพแรงงานฯก็ใหญ่ คับฟ้าขณะที่ฝ่ายการเมืองและคนมีสีเฝ้าที่จะขอเข้าไปมีผลประโยชน์ทุกยุคทุกสมัย กระทั่งเป็นที่มาให้การดำเนินนโยบายด้านการบริหารงานเกิดความผิดพลาด ขณะที่การกำกับดูแลนโยบายการเงินก็ล้มเหลว กระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “เอานักบัญชีมาทำการเงิน หรือทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้า ก็ต้องพังอย่างที่เห็น”  


ดังนั้นจึงมีการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาขายหุ้นของการบินไทยออกไป แล้วหามืออาชีพเข้ามาถือหุ้นแทน หรือให้รัฐบาลตัดสินใจครั้งสำคัญในการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

ซึ่งสายการบินแห่งชาติหลายแห่งทำมาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหาหนักจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูง ขณะที่ไม่สามารถจะลดต้นทุนดำเนินการ หรือแม้แต่ปรับลดรายได้ของพนักงานได้ เนื่องจากมีสหภาพแรงงานฯเป็นตัวขวางอยู่ ที่สำคัญ แม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และรู้ชัดว่าการบินไทยเป็นตัวอย่างของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวที่สุด แต่ก็ไม่เคยมีสิทธิที่จะยื่นมือเข้าไปปรับโครงสร้างของการบินไทยได้.
 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์