ผุดสารพัดโครงการรับเลิกจ้าง กระทรวงเศรษฐกิจผนึกขอ3พันล้านสร้างงาน

กระทรวงเศรษฐกิจเปิดแผนแก้ปัญหาว่างงาน ผุดสารพัดโครงการรองรับ เกษตรฯ ขอ 2.3 พันล้าน รับแรงงานคืนถิ่น ฝึกอบรมสร้างผลผลิตเกษตร เป้าหมาย 3 แสนคน ”พาณิชย์”ชูธงธุรกิจเฟรนไชส์ ขณะที่อุตสาหกรรมขอ 1 พันล้าน สร้างผู้ประกอบการใหม่

 นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า

กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนเสนอของบประมาณเพื่อช่วยเหลือคนว่างงานและผู้ถูกเลิกจ้างให้สำนักนายกฯ พิจารณา
โดยมีหน่วยงานที่พร้อมรองรับ 7 หน่วยงาน วงเงิน 2,307.08 ล้านบาท ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ว่างงาน ทั้งที่เป็นแรงงานคืนถิ่น แรงงานที่อยู่ระหว่างการหางานและปรับเปลี่ยนงาน รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่ ประมาณ 305,264 คน


 โครงการต่างๆ เช่น กรมวิชาการเกษตรขอใช้งบ 318.83 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ส่งเสริมอาชีพการเกษตรเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร จะใช้งบประมาณรวม 1,064.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างผู้ว่างงานให้มีอาชีพ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

 นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า
 
ภาวะเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะมีธุรกิจปิดกิจการและทำให้คนตกงานจำนวนมากนั้น กรมได้ปรับแผนการดูแลผู้ประกอบการให้รองรับปัญหาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นดูแลธุรกิจที่ประสบปัญหา
แบ่งเป็นส่วนแรก การตั้งคลินิกให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และส่วนที่สอง คือการเดินหน้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ ที่ปรับแผนโดยให้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่จะตกงาน และนักศึกษาจบใหม่


 สำหรับประเภทธุรกิจที่อยู่ในแผนพัฒนาปี 2552 ยังเน้นธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก สิ่งพิมพ์ เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ ที่จะรองรับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ได้ดี นอกจากนี้ รูปแบบธุรกิจ ที่จะรองรับคนตกงานได้อีกมากคือ อี-คอมเมิร์ช เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมีเพียงความคิดสร้างสรรค์ และหาตัวสินค้าหรือบริการที่มีโอกาสก็สามารถทำธุรกิจได้ ซึ่งกรมจะเน้นช่วยส่งเสริมกลุ่มธุรกิจออนไลน์ และไปอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณจากงบปกติประมาณ 12 ล้านบาท ช่วยคนว่างงานได้ 6,000 ราย


 ด้านนายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
 
กระทรวงอยู่ระหว่างปรับแผน การลดผลกระทบการเลิกจ้างของผู้ประกอบการ นำเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน


 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์เร่งด่วนในการเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ มี 2 ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงาน

คือ 1.การรักษาสถานภาพการประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นการขยายตลาด พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เสริมสภาพคล่อง และ

2.การผันแรงงานสู่ผู้ประกอบการ โดยเป็นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ จากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือนักศึกษาจบใหม่ คาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะของบเพื่อแก้ปัญหาแรงงานครั้งนี้ ประมาณ 1,000 ล้านบาท


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์