ปัญหาโลกแตก คนข่าว กับ คนบันเทิง : แหกจรรยาบรรณ VS ยอมให้เขาทำ

...บุคคลในวงการบันเทิงมักเกรงใจผู้บริหารค่าย ส่วนผู้บริหารค่ายก็หวังผลประโยชน์จากสื่อในอนาคต แต่หากสุดท้ายคดีละเมิดสิทธิฯ เข้าสู่ชั้นศาล ศาลจะกำหนดโทษเป็นความผิดลหุโทษเท่านั้น ดังนั้น สำหรับสื่อแล้ว "แม้จะถูกฟ้องจนถึงที่สุด ก็ยังคุ้มค่ากับยอดขายที่ได้" ....

"ข่าวบันเทิง"
เป็นข่าวที่ได้ความนิยมสูง เนื่องจากเป็นเรื่องของบุคคลดังในหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลงาน การใช้ชีวิตส่วนตัวหรือเรื่องชีวิตคู่ อย่างไรก็ตาม ข่าวประเภทนี้มักเป็นการรุกล้ำสิทธิของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมาย 4 ประเภท คือ 1.ความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 2.ความผิดฐานละเมิด 3.ความผิดฐานหมิ่นประมาท และ 4.ความผิดฐานก่อความรังควาน


ขณะที่สื่อเองก็ต้องการ "ขายข่าว" ให้ได้มาก เพื่อเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจ จนหลายครั้งถึงกับยอมรุกล้ำสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะการทำข่าวประเด็นจำพวก "ภาพวาบหวิว" , "พฤติกรรมชู้สาว", "การทะเลาะวิวาท", "การสร้างภาพ", "การเที่ยวกลางคืน" ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมทางลบ จึงถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรหันมาตั้งคำถามสำคัญว่า "สื่อ - กระบวนการยุติธรรม - นักวิชาการ" ควรร่วมกันมีบทบาทอย่างไร ในการแก้ไขปัญหาหมักหมมนี้

จากการศึกษาพบว่า จากบรรดาหนังสือพิมพ์ "หัวสี" 4 ฉบับรายใหญ่นั้น "นสพ.คมชัดลึก" เสนอข่าวที่รุกล้ำสิทธิบุคคลวงการบันเทิงมากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ "นสพ.ไทยรัฐ" เป็นอันดับที่ 2 "นสพ.ข่าวสด" เป็นอันดับที่ 3 และ "นสพ.เดลินิวส์" เป็นอันดับที่ 4 โดย 3 ฉบับหลังมีแนวโน้มเสนอข่าวประเภทนี้ลดลง

ส่วนคนในวงการบันเทิงที่ถูกละเมิดมากที่สุด ในจำนวน 377 ข่าวจากนสพ. 4 ฉบับข้างต้น ระหว่างปี 2545 - 2548 พบว่า "ตั้ก - บงกช คงมาลัย" นำหน้าเป็นอับดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือ "แหม่ม - คัทลียา แมคอินทอช" อันดับ 3 "อั้ม - พัชราภา ไชยเชื้อ" อันดับ 4 "แตงโม - ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์" , "บรู๊ค - ดนุพร ปุณณกันต์ และอันดับ 5 "เลน - ซาร่า มาลากุล" แต่เมื่อคนดังถูกละเมิดสิทธิ กลับนิยมใช้วิธี "ให้สัมภาษณ์" เพื่อแก้ไขข่าวเป็นส่วนใหญ่ หรือซ้ำร้ายมักเลือกที่จะนิ่งเฉยไม่ตอบโต้ รอให้เรื่องเงียบไปเอง น้อยคนนักที่จะใช้วิธีการตามกฎหมาย หรือ "การฟ้องร้อง" ขณะที่สื่อเกือบ 100 % มักนิ่งเฉยที่จะแก้ไขข่าวให้ .........?!?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนหลายสำนัก ยอมทำผิดกฎหมายและจริยธรรมทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ก็หนีไม่พ้นปัจจัยด้านการแข่งขันกันเสนอข่าวและขายข่าว ขณะที่นโยบายของสื่อและปัจจัยส่วนตัวของนักข่าวมีผลน้อยมาก อย่างไรก็ตาม กองบรรณาธิการพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยการกำชับให้เสนอข่าวด้วยข้อมูลจริง การปรึกษานักกฎหมาย การเปิดโอกาสให้ตัวเจ้าชี้แจง และการหลีกเลี่ยงทำข่าวประเด็นที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
 
แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ กองบรรณาธิการจะใช้วิธีขอโทษเป็นการส่วนตัว หรือติดต่อให้ผู้ใหญ่ในวงการบันเทิงช่วยไกล่เกลี่ย

ปรากฎว่าวิธีการเหล่านี้ได้ผลแทบทุกครั้ง !!!! เพราะบุคคลในวงการบันเทิงเกรงใจผู้บริหารค่ายของตน และผู้บริหารค่ายก็หวังผลประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์จากสื่อในอนาคต แต่หากสุดท้ายเรื่องเข้าสู่ชั้นศาลได้ เราพบว่าศาลจะกำหนดโทษสื่อมวลชนเป็นความผิดลหุโทษทั้งทางแพ่งและอาญาเท่านั้น

ดังนั้น สำหรับสื่อแล้ว "แม้จะถูกฟ้องจนถึงที่สุด ก็ยังคุ้มค่ากับยอดขายที่ได้"

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือทำลายวงจรนี้ ซึ่งความจริงแล้วสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการประพฤติตัวที่ดีของคนดัง การปลูกฝังจริยธรรมแก่นักศึกษาที่จะเป็นนักข่าวในอนาคต การคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพมากกว่าเงินจากการเสนอข่าวไร้ประโยชน์ และการที่วงการตุลาการหันมาทบทวนการใช้กฎหมายอย่างครบถ้วน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์