เอสเอ็มเอสทะลัก 2 หมื่นล้าน

แม้เศรษฐกิจจะตกสะเก็ด แต่ธุรกิจบริการเสริมอย่างเอส-เอ็มเอสหรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือ กลับเติบโตต่อเนื่องสวนทางตลาด

ยืนยันจากปากของ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาดของเอไอเอส ที่รายได้จากบริการเสริมของปีนี้ทะลุเป้าหมายที่ได้คาดการณ์ไว้
“หลังจากที่ธุรกิจเอสเอ็มเอส (SMS) ได้รับความนิยมมาระยะหนึ่ง เราเคยคาดการณ์ว่าการส่งภาพและภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบของเอ็มเอ็มเอส (MMS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาอีกขั้น จะได้รับความนิยมแทนที่ เรากล้าพูดเลยว่าเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการมือถือรายหนึ่งของโลก ที่ทุ่มเทพัฒนาบริการเสริมอย่างต่อเนื่อง เรามีแล็บวิจัยที่มีพนักงานประจำทำงานสม่ำเสมอเพื่อคิดค้นบริการใหม่ๆ   แต่ที่สุดก็พบว่ายังไม่ สามารถผลักดันบริการเอ็มเอ็มเอสได้อย่างเต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่างนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผย 


ความสวยงามของเอสเอ็มเอส อยู่ที่เสน่ห์ 2 ประการ นั่นคือการสื่อสารในรูปแบบของข้อความที่แม้ไม่สะดวกพูดหรือรับสายก็สามารถสื่อสารกันได้

ส่วนอีกประการคือความสามารถในการเก็บรักษาข้อความเอาไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นหลักฐานที่ดี นอกจากนั้น เอสเอ็มเอสยังเป็นฟังก์ชั่นรองรับการใช้งานพื้นฐานของโทรศัพท์มือถือทุกรุ่น ทำให้สื่อสารระหว่างกันได้สะดวก ง่ายดาย ขณะที่การส่งเอ็มเอ็มเอสนั้นมีอุปสรรคอยู่ที่ความสามารถของเครื่องที่ไม่ทัดเทียมกัน เช่นเดียวกับท่อส่งระหว่างผู้ให้บริการ ทำให้เอ็มเอ็มเอสไม่เติบโตเท่าที่ควร 


“เราคิดว่าเอ็มเอ็มเอสดีกว่า ส่งข้อความได้ทั้งรูป เสียง ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ตัวอักษร คิดว่าจะมาทดแทนเอสเอ็มเอสได้ แต่ที่สุดก็ผิดคาด ทั่วโลกก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยกเว้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ไม่มีปัญหาการสื่อสารระหว่างกัน”



นายสมชัยกล่าวว่า ตั้งแต่เปิดตัวสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน เอสเอ็มเอสยังคงความเป็นบริการเสริมยอดนิยมอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าระยะหลังจะมีบริการเสริมใหม่ๆ เปิดตัวออกสู่ตลาดเพิ่ม รวมทั้งบริการเอสเอ็มเอสที่ต่อยอดเชื่อมกับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อย่างเอสเอ็มเอสชิงโชค เอสเอ็มเอสสนทนาผ่านหน้าจอทีวี เป็นต้น  ณ สิ้นปีนี้ คาดว่าเอไอเอสจะมีรายได้จากบริการนอนวอยซ์ (บริการที่ไม่ใช่เสียง) ที่ 10,800 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ 10,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักยังมาจากเอสเอ็มเอสที่ส่งถึงกันระหว่างผู้ใช้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล รองลงมาได้แก่ เอสเอ็มเอสข่าว และเอสเอ็มเอสที่เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น ชิงโชค หรือแชต (สนทนา) ฝากข้อความผ่านรายการทางโทรทัศน์ รวมไปถึงบริการเสียงเรียกเข้า (ริงโทน) หรือเสียงรอสาย (คอลลิ่ง เมโลดี้) ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน  


แต่ละปีมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจโทรคมนาคมมือถืออยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มของผู้ให้บริการเครือข่าย ในมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท

ที่เหลือประมาณ 40,000 ล้านบาทเป็นมูลค่าในส่วนของธุรกิจเครื่องมือถือ ในมูลค่ารวม 160,000 ล้านบาท เอไอเอสกินส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่ง คือมีรายได้ต่อปีประมาณ 80,000 ล้านบาท  
ส่วนตลาดรวมธุรกิจนอนวอยซ์นั้น ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท เอไอเอสกินส่วนแบ่งเกินครึ่งเช่นกัน เพราะปีนี้น่าจะปิดตลาดได้ที่ 10,800 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของคู่แข่ง 2-3 ค่าย ส่วนปีหน้าคาดว่าตลาดรวมของนอนวอยซ์น่าจะอยู่ที่ 26,000-28,000 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 20-25% ในแต่ละปี โดยปีหน้าเชื่อว่าจะมีส่วนแบ่งจากตลาดรวมที่ประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท 


นายสมชัยยังกล่าวด้วยว่า ขณะที่การให้บริการด้านเสียงมีการแข่งขันกันสูง อัตราค่าบริการต่ำลง อีกทั้งตลาดเติบโตจนถึงจุดอิ่มตัว ทำให้รายได้คงที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก บริการนอนวอยซ์ซึ่งถือเป็นบริการที่ทันสมัยกว่า

จึงกลายเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ 
โดยขณะนี้รายได้จากนอนวอยซ์ อยู่ ที่ประมาณ 13% ของรายได้รวมของเอไอเอส เป้าหมายที่ตั้งไว้ คืออยากให้รายได้ของนอนวอยซ์ขยับขึ้นเป็น 15-20% โดยในประเทศที่เทคโนโลยีมือถือก้าวหน้ามากๆ อย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีนั้น สัดส่วนนอนวอยซ์เป็นรายได้ถึง 30-35% ของรายได้รวม “เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อค่ายมือถือพัฒนาเครือข่ายให้รองรับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยี 3 จี การใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือจะสะดวก รวดเร็วขึ้น และทำให้จำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น ดันรายได้ในส่วนนี้ให้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มบริการนอนวอยซ์ แซงหน้าเอสเอ็มเอสได้ในที่สุด แต่ก็เชื่อว่าเอสเอ็มเอสจะไม่มีวันตาย เพราะเสน่ห์ที่ทดแทนกันไม่ได้ อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้น”


นายสมชัยเปิดเผยอีกว่า บริการใหม่ๆในส่วนของเอสเอ็มเอสนั้น ส่วนใหญ่เปิดตัวสู่ตลาดหมดแล้ว  

นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เหลือคงต้องรอการให้บริการบนเครือข่าย 3 จี ซึ่งจะทำให้บริการอย่างวีดิโอ คอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) หรือคอนเฟอเรนซ์ คอลล์ (Conference Call) แจ้งเกิดให้เต็มตัวขึ้น เพราะความสามารถของเครือข่ายที่รับ-ส่งภาพเคลื่อนไหวได้ลื่นไหล   ชัดเจนกว่า.
 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์