ธปท.รับปีหน้าเสี่ยงเกิดเงินฝืด ชี้เป็นเรื่องเทคนิคไม่เลวร้ายถึงขั้นเลิกจ้างรุนแรง

ธปท.ยอมรับปีหน้ามีโอกาสเกิดภาวะ "เงินฝืด"

ชี้ไม่ใช่สถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นเกิดการเลิกจ้างรุนแรง แค่เป็นตัวเลขทางเทคนิค ประเมินยอดว่างงานราว 8-9 แสนคน ไม่วิกฤติเหมือนปี 40 ระบุนโยบายการเงินอย่างเดียวไม่พอกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะรัฐยึดนโยบายทำได้เร็ว แก้ตรงจุด เลิกไม่ยาก

ดร.อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า
 
ในปีหน้ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อได้ หากราคาน้ำมันยังปรับลดลง และอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อบางเดือนติดลบ อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดดังกล่าวจะเป็นเพียงในเชิงเทคนิคเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และไม่น่าจะรุนแรงจนทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องด้านลบเป็นวัฏจักร จนเกิดการเลิกจ้าง หรือวัฏจักรที่ภาคธุรกิจไม่สามารถขายสินค้าได้ แล้วลดกำลังการผลิตลงเป็นผลให้เกิดการเลิกจ้างงาน ซึ่งทำให้ธุรกิจยิ่งขายสินค้าไม่ได้มากขึ้น

 "ถามว่ามีโอกาสเกิดเงินฝืดหรือไม่ ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบเป็นบางเดือนขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน เป็นเงินฝืดทางเทคนิค ซึ่งไม่ได้เป็นเงินฝืดที่เลวร้าย" ดร.อัจนากล่าวและว่า

ส่วนการว่างงานนั้น หากกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีประมาณ 1.4% ตามภาวะปกติ การว่างงานน่าจะมีประมาณ 8-9 แสนคน แต่เนื่องจากในช่วงต้นปีนี้กำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีถึง 2% ทำให้โอกาสที่จำนวนคนว่างงานอาจจะมากกว่า 8-9 แสนคนได้ ซึ่งเชื่อว่าปัญหาการว่างงานในครั้งนี้ ไม่น่าจะรุนแรงเหมือนปี 2540 เพราะฐานะการเงินของธุรกิจและธนาคารยังดีอยู่

ดร.อัจนากล่าวในการสัมมนาเรื่องศักยภาพของสังคมไทยกับวิกฤติโลก : กรณีศึกษาด้านเศรษฐกิจ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่า

การฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบัน การใช้นโยบายการเงินอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะแม้ดอกเบี้ยจะลดลง แต่หากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนยังไม่มีความเชื่อมั่นก็ไม่ทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ ดังนั้น ต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบด้วย โดยนโยบายที่นำมาใช้ต้องยึดหลักที่เป็นนโยบายที่สามารถทำได้รวดเร็ว แก้ปัญหาตรงจุดและสามารถยกเลิกได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ หากนโยบายที่ทำเป็นนโยบายประชานิยม ก็ต้องมองถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจด้วย


 "การใช้นโยบายประชานิยมก็ไม่แปลก แต่ก็ต้องมองประโยชน์ของเศรษฐกิจด้วย และด้วยปัญหาและเวลาที่มี การจะคิดโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งคิดการใหญ่ ตอนนี้ทำอะไรก็ได้ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพได้เร็ว ส่วนเมกะโปรเจกท์ที่ต้องทำ คือ เรื่องน้ำ ไม่อย่างนั้นเกษตรกรจะไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนไปได้" ดร.อัจนากล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์