วิกฤตเด็กไทย-แม่วัยโจ๋พุ่ง8หมื่น

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ

กล่าวระหว่างการแถลงข่าว "เด็กไทยกับ 10 สถานการณ์เด่นรอบปี 2551" ว่า โครงการ Child Watch โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และ สสส. สำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนปี 2551 มีทั้งด้านร้ายและดี 10 สถานการณ์ สำหรับด้านร้ายเรื่องที่ 1.จับตาปัญหาแม่วัยรุ่นที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีมาทำคลอดสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ 2548-2551 ในปี 2251 ประมาณการว่ามีถึง 77,092 คน จากปี 2550 ที่มี 68,385 คน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาทั้งความไม่พร้อมที่จะเลี้ยง ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะไม่มีงานทำ สังคมต้องร่วมแก้ไข เนื่องจากนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมาก

นายอมรวิชช์ กล่าวต่อว่า 2.คุกเด็กอาจเริ่มไม่พอ โดยปี 2551 มีเด็กถูกส่งเข้าสถานพินิจฯ จำนวน 42,102 คน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 2,000 คน

คดีอันดับต้นๆ คือ ลักทรัพย์ ยาเสพติด และการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย 3.เด็กใช้ชีวิตกับสื่อมากขึ้น เกือบจะครึ่งชีวิตยามตื่นหรือ 6-7 ชั่วโมงต่อวันที่หมดไปกับสื่อต่างๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์ ภาครัฐจึงควรดูแลกำกับการผลิตและเผยแพร่ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เด็กเข้าถึงได้มากในยุคนี้

4.เด็กไทยมีแววเครียดสูง มองสังคม การเมืองติดลบ ปี 2551 มีเด็กเครียดจนปวดท้อง หรือนอนไม่หลับเฉลี่ยถึง 30% ภาวะเครียดจะสูงขึ้นตามระดับการศึกษา โดยนิสิต นักศึกษา เครียดถึง 40% ปัญหามาจากการเรียน การแข่งขัน ความรุนแรง ขณะที่เด็กกว่า 60% ระดับมัธยม-อุดมศึกษา เห็นว่าประเทศไทยมีทุจริตคดโกงในระดับมาก จึงน่าห่วงว่าปีหน้าเด็กไทยจะเครียดขึ้น 5.เด็กไทยไม่ชอบไปโรงเรียนมากขึ้น และมีนิสัยการเรียนรู้ที่น่าเป็นห่วง โดยมีเพียง 27% ที่อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก และเด็กที่บอกว่าชอบไปโรงเรียนมากลดลงจาก 43% เหลือ 38% ยิ่งเมื่อเริ่มเข้าชั้นมัธยม สาเหตุหนึ่งมาจากกวดวิชา ทัศนคติต่อครู ความเครียดต่อสภาพความรุนแรงในโรงเรียนที่มีเด็กเพียง 26% ที่รู้สึกปลอดภัยมากเวลามาโรงเรียน

นายอมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม มีสถานการณ์ด้านดี 5 เรื่องคือ

1.การได้เห็นการเคลื่อนขบวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลุยงานเด็กและเยาวชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โครงการ Child Watch เข้าไปชวนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนภายใต้แนวคิด "เมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก" มีจังหวัดเข้าร่วมแล้ว 26 จังหวัด และมีอปท.ร่วมกว่า 240 แห่ง 2.ท้องถิ่นต่างๆ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนมากขึ้น อาทิ โครงการถนนเด็กเดิน 3.การริเริ่มโครงการบ้านหลังเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่เด็กในเมืองมักขาดกิจกรรมดีๆ ทำหลังเลิกเรียน ทำให้ 15.00-18.00 น. เป็นเวลาเสี่ยง เด็กประถม-มัธยมถึง 10-15% หลังเลิกเรียนต้องอยู่บ้านคนเดียววันละ 2-3 ช.ม.กว่าพ่อแม่จะกลับ

4.แนวโน้มเสพเหล้า บุหรี่ของเยาวชนลดลง แต่ยาเสพติดยังต้องจับตา ถือเป็นข่าวดีปี 2551 ที่การดื่มเหล้าของเด็กเยาวชนลดลง ทั้งนักดื่มหน้าใหม่ที่ดื่มเป็นครั้งคราว และดื่มประจำ โดยเฉพาะม.ต้น-ม.ปลาย ส่วนบุหรี่ แม้นักสูบหน้าใหม่ยังไม่ลดลง แต่นักสูบประจำลดลง ซึ่งน่าจะเกิดจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของสสส. และเครือข่าย 5.ความสำเร็จของการสกัดเด็กอ้วน โดยเด็กที่ทานน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบเป็นประจำ มีแนวโน้มลดลง น่าจะเกิดจากการรณรงค์ต่อเนื่องของสสส. เช่น โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์