โคลนนิ่งกระทิงสำเร็จ คลอดออกมา12ชม.ตาย!

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. โดยนายรังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

เปิดเผยว่า ขณะนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งกระทิงสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ของไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีการโคลนนิ่ง ซึ่งจะสามารถเพิ่มจำนวนของสัตว์ใกล้ สูญพันธุ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าการปล่อยให้สัตว์ผสมกันเองตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากการจับกระทิงพ่อแม่พันธุ์จากป่า ไม่สามารถทำได้และค่อนข้างยาก จึงมองว่าน่าจะใช้การโคลนนิ่งข้ามสปีชีส์ และได้ทำการเลือกวัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับกระทิงมาทำการโคลนนิ่ง โดยขอรับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการมากว่า
2 ปีแล้ว


นายรังสรรค์กล่าวต่อว่า การโคลนนิ่งกระทิง ได้ใช้ เทคนิคการโคลนนิ่งข้ามสปีชีส์ โดยจะใช้ไข่วัวเป็นไซโต พลาสซึมผู้รับ


และใช้เซลล์ผิวหนังของกระทิงเพศเมียและเพศผู้จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี มาเป็นต้นแบบในการสร้างตัวอ่อนของกระทิง จากนั้นจึงย้ายฝากตัวอ่อนในมดลูกของแม่วัว จำนวน
10 ตัว ที่ผ่านมาแม่วัวสามารถตั้งท้องลูกกระทิงได้ แต่แท้งเกือบหมด เมื่ออายุท้องแค่ 3-6 เดือนเท่านั้น แต่มีตัวอ่อนของกระทิงที่ได้เซลล์ผิวหนังตัวผู้ 1 ตัว ที่แม่วัวตั้งท้องได้นานถึง 275 วัน และทีมนักวิจัยได้ผ่าทำคลอดลูกวัวออกมา แต่อยู่เพียง 12 ชั่วโมงก็ตาย สันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำในปอดเยอะและอาจมาจากการผ่าคลอดเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะยอมรับว่าไม่เคยมีข้อมูลยืนยันว่า แท้จริงแล้วกระทิงใช้เวลาในการตั้งท้องนานเท่าไหร่ แต่สันนิษฐานว่าอาจราว 270 วัน

นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า จากกรณีแม่วัวดังกล่าว ทำให้นักวิจัยได้ปล่อยให้แม่วัวอีก 1 ตัว ที่มีตัวอ่อนของเซลล์กระทิงตัวเมียตั้งท้องต่อไปอีกเป็นเวลาถึง 305 วัน

ก็ตรวจอัลตราซาวน์พบว่าลูกกระทิงมีปัญหา จึงได้ผ่าออกมาพบว่าลูกกระทิงตายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตรวจพบว่าลูกกระทิงดังกล่าวมีอวัยวะของกระทิงครบทั้งหมดแล้ว รวมทั้งตรวจดีเอ็นเอว่าเป็นลูกกระทิงโคลนนิ่ง ที่มีพันธุกรรมเหมือนกับพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมด และยืนยันว่าการนำเจเนติกส์ของกระทิงไปผสมกับไข่วัว ไม่ทำให้เกิดการเสียหายต่อสายพันธุ์กระทิงอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจจะมีข้อด้อยเหมือนกับสัตว์โคลนนิ่งชนิดอื่นตรงที่จะมีความอ่อนแออยู่บ้าง ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดหลังคลอดและสัตว์จะมีอายุสั้น แต่ตัวที่แข็งแรงก็จะรอดได้ อย่างไรก็ตาม การโคลนนิ่งครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจในระดับหนึ่งและในปี
2552 นักวิจัยจะเตรียมโคลนนิ่งกระทิงชุดใหม่ โดยใช้เทคนิคเดิมกับแม่วัวจำนวน 10 ตัว เนื่องจากขณะนี้สามารถประเมินว่าอายุการตั้งท้องของกระทิงที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วงระยะ 290-295 วัน อีกทั้งจะนำผลงานความก้าวหน้านี้ไปเสนอต่อที่ประชุมงานสมาคมย้ายฝากตัวอ่อนนานาชาติ ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-6 ม.ค.52 ด้วย

ด้านนายชัชวาลย์ พิศดำขำ ผอ.สำนักอนุรักษ์ สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าถือเป็นข่าวน่ายินดีมากกับวงการอนุรักษ์


เนื่องจากกระทิงในธรรมชาติ ขณะนี้เหลือเพียงไม่กี่แห่ง พบแถวเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง และตอนนี้กรมอุทยานฯพยายามรักษาพื้นที่ตรงนี้เอาไว้ เน้นการป้องกันปราบปราม และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อรักษาสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงสูง ในส่วนของการส่งเสริมสัตว์ป่า ที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในเชิงพาณิชย์แล้วทั้ง
59 ชนิดนั้น ขณะนี้กรมอุทยานฯได้เตรียมเสนอการกำหนดราคากลาง สัตว์พ่อแม่พันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเดือน ม.ค.นี้

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์