จี้แก้เด็กติดเกมแบบบูรณาการ

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จี้ภาครัฐแก้ปัญหา “เด็กติดเกม” แบบ “บูรณาการ” ฟันธงถ้ายังต่างฝ่ายต่างทำไม่สำเร็จ ชี้บีบธุรกิจร้านเกม ยิ่งมีการดิ้นหาช่องเลี่ยง ถึงแก้ไขปัญหาได้ก็ไม่ยั่งยืน พร้อมปลุกผู้ปกครองต้องใส่ใจขจัดและสกัดสิ่งไม่ดีที่คุกคามบุตรหลาน

จากกรณีปัญหา “เด็กติดเกม” ที่ “เดลินิวส์” นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ล่าสุดได้สุ่มสำรวจอย่างไม่เป็นทางการกับเด็กที่ชอบเล่นเกมและผู้ประกอบการร้านเกม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดพบว่าในส่วนของผู้ประกอบการร้านเกมได้เรียกร้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญใส่ใจดูแลบุตรหลานในเรื่องการเล่นเกมด้วย เพื่อไม่ให้เด็กเกิดปัญหา โดยไม่โทษแต่ร้านเกมเพียงฝ่ายเดียว รวมถึง เรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการจัดระเบียบร้านเกมอย่างเสมอภาค ไม่จ้องจับผิดจนธุรกิจร้านเกมอยู่ไม่ได้นั้น


เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นางกีรติกา แผงลาด ผอ.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและในฐานะผู้ปกครองของเด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง เปิดเผยกับ “เดลินิวส์” ว่า การแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมของภาครัฐที่ผ่านมายังคงเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่บูรณาการที่จะต้องยึดเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขถึงจะประสบความสำเร็จ “ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน หลายหน่วยงาน การแก้ไขปัญหาของรัฐที่ลงไปที่ภาคของผู้ประกอบการ หรือภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียวก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้ยั่งยืนเพียงใด เพราะในการทำธุรกิจแล้ว ยิ่งผู้ประกอบการถูกบีบมาก ก็จะยิ่งดิ้นรนทำอย่างอื่นต่อ”

ผอ.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายครอบครัว กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการให้ใบประกาศ นียบัตร “ร้านเกมสีขาว” ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะร้านเกมที่ดีก็สามารถสกรีนเกมที่ไม่ดี ไม่เหมาะกับเด็กออกไปได้มาก อย่างไรก็ตามประเด็นคือความยั่งยืน ความต่อเนื่อง จะยาวนานแค่ไหน เพราะร้านเกมก็คือธุรกิจ ประเภทหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นภาครัฐควรจะทำในด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสมเพิ่มเติมอีก ซึ่งทุกวันนี้เด็กใช้คอมพิวเตอร์มากจริง ๆ ทั้งนี้สถาบันครอบครัวเองก็สำคัญมาก และจำเป็นอย่างยิ่งในการขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกจากเด็ก แต่เพราะปัจจุบันจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ครอบครัวไม่เข้มแข็ง ไม่อบอุ่นเหมือนเดิม ปัญหาสังคมต่าง ๆ ก็เกิดตามมาเป็นลูกโซ่ อย่างไรก็ตามครอบครัวเองก็จำเป็นต้องหันกลับมาใส่ใจในจุดนี้ให้มากขึ้น


นางกีรติกายังกล่าวย้ำด้วยว่า การแก้ปัญหา “เด็กติดเกม” นั้นไม่ควรจะแก้ไขแบบเฉพาะส่วน แต่ควรจะต้องทำแบบบูรณาการ ทั้งในส่วนของภาครัฐ สถานศึกษา และครอบครัว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ควรแยกกันทำ หรือต่างคนต่างทำ เพราะจะแก้ไขปัญหาไม่ได้แน่นอน เพราะเด็กจะเสมือนเป็นเครื่องมือที่ถูกโยนไปทางโน้นทีทางนี้ที “ถ้าไม่ แก้ไขแบบจริงจัง ปัญหาก็จะวนไปวนมาเหมือนเดิม”

โดยก่อนหน้านี้ ผอ.ศูนย์ประสาน งานเครือข่ายครอบครัวยังได้เคยเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหานี้ไว้ด้วยว่า พ่อแม่ต้องหาเวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับใจของบุตรหลานมากกว่าวัตถุ และคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็ต้องช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวด้วย ซึ่งก็จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม ผิดศีลธรรม ไม่เหมาะสมกับเด็ก ภาครัฐก็ต้องป้องปรามและปราบปรามอย่างจริงจัง โดยในเรื่องของเกมนั้นจุดหนึ่งที่จะควบคุมได้คือต้นทางของปัญหาควบคุมโดยภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาสู่ตลาดของเกม การจัดเรตติ้งเกมที่ต้องได้มาตรฐาน โดยจุดนี้ทางภาครัฐจะควบคุมได้ดีกว่าฝ่ายอื่น เพราะต้องยอมรับจริง ๆ ว่าองค์ความรู้ของพ่อแม่ในเรื่องไอทีนั้นตามเด็ก ๆ ไม่ทันแล้ว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์