3 หวนคืนถิ่นคนตกงานช้ำค่าเช่านาพุ่ง



ผู้อำนวยการ สศก. เผย แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาวะเศรษฐกิจ หวังกลับไปทำอาชีพเกษตร แต่ต้องเจอกับค่าเช่านาที่เพิ่มสูงขึ้น เร่งสั่งคณะ กก.เช่าที่ดินฯ ดูแลให้เป็นธรรม


นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า หลังจากพบว่ามีแรงงานถูกเลิกจ้างจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกลับไปประกอบอาชีพเกษตรเพิ่มขึ้น ได้ทำให้อัตราค่าเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรในปัจจุบันปรับสูงขึ้นตาม เนื่องจากความต้องการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีที่ดินของตนเอง ได้มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นเพื่อแย่งที่จากเกษตรกรผู้เช่ารายเดิม ในขณะที่ผู้เช่ารายเดิมต้องการรักษานาเช่าไว้จึงเพิ่มค่าเช่าให้เจ้าของที่นา ทำให้ค่าเช่าที่ดินมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในเขตชลประทานที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้ การปรับขึ้นของค่าเช่านายังเกิดขึ้นจาก เจ้าของที่ดินบางรายที่คิดค่าเช่าเป็นผลผลิตและมีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาตามราคาข้าวที่ปรับตัวขึ้นสูงมาก

ในปีนี้แม้ราคาข้าวปรับลดลงแต่เจ้าของที่ดังกล่าวไม่มีการลดค่าเช่าให้ โดยจากเดิมที่เก็บค่าเช่าเป็นผลผลิต 10-15% ของผลผลิตที่ได้รับในแต่ละรุ่น เพิ่มเป็น 15-20% ซึ่งส่วนใหญ่จะคิด 20% ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงสั่งการให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด เข้าไปดูแลกำหนดค่าเช่าระดับจังหวัดดูแลการคิดให้เป็นธรรมและเหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่ายพร้อมติดตามกำกับให้เกิดผล เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรต่อไป

"ปัจจุบันแม้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และวัชพืช มีแนวโน้มลดลง แต่หากค่าเช่าที่นายังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตข้าวยังเท่าเดิมประมาณ 800-1,000 กก./ไร่ จะทำให้เกษตรกรยังมีต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ประมาณตันละ 6,600-7,000 บาท และทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรมีแนวโน้มลดลงตามราคาข้าวไปด้วย เพราะราคาข้าวขณะนี้ลดลงเหลือเฉลี่ยตันละ 9,500-10,500 บาท"

ด้านนายประสิทธ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเช่าที่นาเพิ่มขึ้นจริง แต่ปัญหานี้สมาคมฯไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้

แต่เห็นว่า เป็นการฉวยโอกาสของเจ้าของที่ ที่ใช้วิกฤติเศรษฐกิจซึ่งมีคนว่างงานไหลเข้าสู่ภาคการเกษตรให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่ราคาข้าวในปัจจุบันจูงใจให้เกษตรกรทำนามากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาควบคุมค่าเช่าให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวของไทยได้

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์