มข.ค้นพบสาหร่ายน้ำจืดใช้ผลิตไบโอดีเซล

ศ.เกียรติคุณ ดร.สุมนต์ สกลไชย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า พืชขนาดเล็กที่เรียกว่าสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กในแหล่งน้ำจืดใน จ.ขอนแก่น

โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่พบในบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยของมหาวิทยาลัย คือ ดร.รัตนภรณ์ สีสิงห์ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ค้นพบว่า มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพืชพลังงาน โดยน้ำมันที่สกัดได้จากสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กนี้ สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้ 
 
ดร.รัตนภรณ์ นักวิจัยผู้ค้นพบ กล่าวว่า  การคัดเลือกสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กจากแหล่งน้ำจืดใน จ.ขอนแก่น เพื่อใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงชีวภาพทดแทน

แหล่งที่ค้นพบสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กคุณภาพดี คือ ที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งชื่อว่า KKU-S2 (S=สีฐาน) การใช้สาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กเป็นพลังงานชีวภาพทดแทน ทำได้โดยการนำสาหร่ายที่คัดเลือกได้จากแหล่งน้ำจืด มาเพาะเลี้ยงในสภาวะที่เหมาะสมซึ่งใช้เวลาเพียง 2 วัน สาหร่ายจะสามารถเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า จากปริมาณเดิม และเพื่อให้สาหร่ายโตเต็มที่มีปริมาณน้ำมันเพียงพอในการสกัด และต้องเพาะเลี้ยงสาหร่ายต่อไปอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์
 
นักวิจัยผู้ค้นพบ กล่าวอีกว่า จากนั้นนำสาหร่ายมาสกัดไขมัน หรือน้ำมันที่สะสมในเซลล์มาผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยผ่านกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (transesterification)

หรือการใช้เซลล์สาหร่ายขนาดเล็กผสมโดยตรงกับน้ำมันดีเซล  ซึ่งปัจจุบันได้ทำการวิจัยถึงขั้นตอนการค้นพบคุณสมบัติของสาหร่ายขนาดเล็กมาสกัด จะได้น้ำมัน หรือลิปิดที่เป็นไตรกลีเซอไรด์ โดยมีกรดปาล์มิติค กรดสเตียริค และกรดโอเลอิค เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งเป็นกรดไขมันประเภทเดียวกันกับที่พบในน้ำมันพืช  แสดงว่าน้ำมันที่ผลิตได้จากสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็ก มีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ    สำหรับผลิตไบโอดีเซลได้
 
“ในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในอนาคต หากจะเพาะเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กในระดับอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันไบโอดีเซล สามารถทำได้ เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังใช้เวลาเพาะเลี้ยงเพียง 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันได้แล้ว แต่พืชน้ำมันชนิดอื่น ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในไทย เช่น สบู่ดำ ปาล์มน้ำมัน ในการเพาะปลูกใช้เวลานาน และใช้พื้นที่มาก นอกจากนั้นผลผลิตยังขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลอีกด้วย” ดร.รัตนภรณ์ กล่าว
 
นักวิจัยผู้ค้นพบ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดในการนำน้ำมันสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็ก มาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล เกิดจากวิกฤติการณ์ความไม่แน่นอนของราคา และปริมาณน้ำมันดิบที่ลดลงเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อนที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ทำให้นักวิจัยมุ่งความสนใจมาที่สาหร่ายสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แต่มีศักยภาพสูง อย่างสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กในแหล่งน้ำจืดที่ จ.ขอนแก่น โดยความคืบหน้าของผลงานวิจัยเรื่องนี้ คาดว่าจะพัฒนาถึงขั้นผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ได้ประมาณเดือนเมษายน 2552.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์