ยังอยู่-ยังดุ-ยังอันตราย ไข้หวัดนก เผลอเมื่อไหร่เสร็จมัน!

กลายเป็นอีกหนึ่งโรคประจำถิ่น-เป็นอีกหนึ่งภัยประจำฤดูกาล

โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และรวมถึงในประเทศไทยไปแล้ว สำหรับ “ไข้หวัดนก” ซึ่งในไทยในช่วงรอยต่อฤดู ช่วงปลายฝนต้นหนาวปี 2551 มันก็อุบัติขึ้นให้ต้องระมัดระวังกันอย่างจงหนักอีกครั้ง หลังจากมีการตรวจพบในบางจังหวัด เช่น อุทัยธานี, สุโขทัย
 
มิใช่จะกระพือให้ตกใจ...แต่ “หวัดนก” ยังวางใจไม่ได้
 
คนไทยยังต้องใส่ใจ “ป้องกัน” ทั้งการป่วย-ระบาด !!!

 
ในต่างประเทศ ในปีนี้ ช่วงตั้งแต่ 1 ม.ค.-4 พ.ย. มีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกใน 26 ประเทศ เช่น อิสราเอล, อิหร่าน, จีน (รวมฮ่องกง), อินเดีย, เวียดนาม, ซาอุดีอาระเบีย, ลาว, พม่า, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เกาหลี, ญี่ปุ่น, กัมพูชา เป็นต้น ขณะที่ในเมืองไทยนั้น ช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน พ.ย. ก็มีการพบใน 3 ตำบล ของ 3 อำเภอ 3 จังหวัด โดยจากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ณ วันที่ 13 พ.ย. ที่ จ.สุโขทัย ยืนยันการพบเชื้อโรคไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.ทุ่ง      เสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม จากตัวอย่างซากไก่พื้นเมือง โดยเกษตรกรเลี้ยง 17 ตัว ป่วยตายรวม 5 ตัว และที่ จ.อุทัยธานี ยืนยันการพบเชื้อโรคไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ในพื้นที่ อ.หนองฉาง ต.ทุ่งโพ จากตัวอย่างซากไก่พื้นเมือง โดยมีสัตว์ปีกป่วย 83 ตัว ตาย 25 ตัว
 
นี่เป็นสถานการณ์หวัดนกในไทยในช่วงก่อนหน้านี้
 
ที่ทั้งฝ่ายปศุสัตว์-สาธารณสุขก็คุมเข้มกันเต็มที่ !!!

 
ขณะที่หากจะย้อนดูไปไกลกว่านี้ ว่ากันเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค. 2547-เดือน ส.ค. 2549 ในส่วนที่มีผู้ติดเชื้อ ป่วย-ตาย ในช่วงเวลาดัง กล่าวนี้มีคนไทยป่วย 25 ราย ตายไป 17 ราย

โดยผู้ที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ป่วย 3 ราย ตาย 1 ราย, ผู้ที่อายุ 5-14 ปี ป่วย 8 ราย ตาย 7 ราย, ผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วย 14 ราย ตาย 9 ราย โดยที่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนก หรือเชื้อ “เอชไฟว์เอ็นวัน (H5N1)” ที่มีอัตราสูงสุดคือการสัมผัสกับสัตว์ปีก ไก่ เป็ด ที่ป่วยตายจากไข้หวัดนก รองลงมาคืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีไก่ เป็ด ตายอย่างผิดปกติ
 
ทั้งนี้ เมื่อไข้หวัดนกยังคงเป็นหนึ่งในโรคอันตรายที่ต้องกลัว ก็น่าจะได้ทบทวนถึง “สาเหตุการติดเชื้อ”

โดยคนที่ติดเชื้อนั้นก็มีทั้งได้รับเชื้อโดยตรง เช่น จับต้องสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ที่ป่วย-ตาย เชื้อจะติดมากับมือ และเข้าสู่ร่างกายทางปาก จากการกินอาหาร แคะฟัน หรือเข้าทางเยื่อบุจมูกจากการแคะจมูก หรือเข้าทางตาจากการขยี้ตา บางรายก็ติดเพราะดูดเสลดให้ไก่ชน และอาจติดเชื้อทางอ้อม เช่น สัมผัสแหล่งน้ำหรือพื้นดินบริเวณที่มีสัตว์ปีกป่วย-ตาย สัมผัสมูลสัตว์ปีกที่ป่วย-ตาย ซึ่งจะเห็นว่า “มือนี่แหละ... สำคัญ-ต้องระวัง !!”
 
และเรื่องของมือกับไข้หวัดนกนี้ หลายหน่วยงาน หลายองค์กร ทั้งภาครัฐ-เอกชน ก็ให้ความสำคัญ

ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, องค์การ เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID), สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และบริษัทเอกชน ก็ได้ร่วมกันจัดโครงการ “มือสะอาดปราศจากไข้หวัดนก” รณรงค์กับเด็กนักเรียนและประชาชน
 
“โครงการนี้จะเป็นการให้ความรู้ในการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐานในส่วนต่าง ๆ และการล้างมือให้สะอาดถูกสุขลักษณะ 7 ขั้นตอน ซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันไข้หวัดนก และโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ ด้วย” ...เป็นการระบุของ แคร์โรไลน์ คอมเบอมาล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท   คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์โพรเทคส์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้
 
นี่ก็เป็นอีกแนวทาง “ต้านไข้หวัดนก” ที่ควรปฏิบัติ
 
มือสะอาดปราศจากไข้หวัดนก กับ “การล้างมือให้สะอาดถูกสุข ลักษณะ 7 ขั้นตอน” ที่ว่า ก็ทำได้โดยการล้างมือบ่อยครั้ง-ยับยั้งเชื้อโรค โดย 7 ขั้นตอนของการล้างมืออย่างถูกวิธีนั้น ประกอบด้วย... 1. ใช้ฝ่ามือถูกัน,   2. ฝ่ามือถูหลังมือและซอกนิ้วมือ, 3. ใช้ฝ่ามือถูฝ่ามือ และนิ้วถูซอกนิ้ว,   4. หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ, 5. ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ, 6. ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ, 7. ถูรอบข้อมือ โดยโครงการนี้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งกับโรงเรียน 24,000 แห่งทั่วประเทศ และชุมชนต่าง ๆ
 
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของ “มือ” ที่สำคัญต่อการป้องกันการ ติดเชื้อไข้หวัดนก หรือโรคติดต่อต่าง ๆ เป็นรายบุคคลแล้ว

กับกฎเหล็กที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ-การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในภาพรวม ก็จำเป็นต้องมีการทำควบคู่กันไปด้วย ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบปิด ป้องกันสัตว์ปีกที่เลี้ยงไม่ให้สัมผัสสัตว์นำโรค โดยเฉพาะนก, หากพบสัตว์ปีกป่วย-ตายผิดสังเกต รีบแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจสอบ-ควบคุม, ไม่ทิ้งสัตว์ปีกที่ป่วย-ตายเรี่ยราด ต้องเผา หรือฝังให้ลึกมากพอแล้วโรยปูนขาวกลบทับดินให้แน่น, ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วย-ตายผิดสังเกตมาชำแหละทำอาหาร จำหน่าย หรือนำไปเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด ทั้งนี้ “ต้องเคร่งครัดกับกฎระเบียบในการควบคุมการระบาดของไข้หวัดนก” ไม่หลบเลี่ยง พร้อม ๆ ไปกับการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ที่รวมถึงการ “ล้างมือ”
 
“หวัดนก” มันยังร้าย-ยังอันตราย...ต้องช่วยกันระวัง
 
อย่าละเลยจนมันแพร่ระบาดมาก...เหมือนที่เคยเกิด
 
ตอนนี้เมืองไทยก็มีเรื่องทุกข์-เรื่องวุ่นมากอยู่แล้ว !!!.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์