นิคอนฯ ยอมควัก 20 ล้าน จ่ายเงินชดเชยพนักงาน

วันนี้ (24 พ.ย.) นายสมมาต  ขุนเศรษฐ  รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กล่าวถึงผลสำรวจแนวโน้มการเลิกจ้างงานจากสมาชิก
74  จังหวัดทั่วประเทศ  พบว่า เบื้องต้นแนวโน้มการเลิกจ้าง  หากรัฐบาลไม่มีมาตรการแก้ไขเร่งด่วนจะมีคนตกงานคิดเป็นร้อยละ 12  หรือประมาณ 1.1  ล้านคนในไตรมาส 2 ปี 2552  โดยภาคใต้มีโอกาสตกงานในสัดส่วนคนวัยทำงานมากกว่าภาคอื่น  แต่หากพิจารณาจำนวนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนคนตกงานมากที่สุด  ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
 
สำหรับมาตรการที่ ส.อ.ท.เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ  จัดให้มีสภาพคล่องแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)  ซึ่งกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ  โดยมีนายประดิษฐ์  ภัทรประสิทธิ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับผิดชอบซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดรองเลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าว

ด้านนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์เลิกจ้างทั่วประเทศว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีการเลิกจ้างไปแล้ว
349
แห่ง

ลูกจ้าง
30,538 คน และมีแนวโน้มจะเลิกจ้างอีก 123 แห่ง ลูกจ้าง 56,970 คน ประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด คือ เครื่องเรือน เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนสถานประกอบที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด คือ สถานประกอบการขนาดกลาง ลูกจ้าง 300-999 คน 48 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 12,646 คน ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถานการณ์การเลิกจ้างในขณะนี้น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มการเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีตัวเลขคนตกงานมากเป็นล้านคนเหมือนที่ ส.อ.ท.คาดไว้หรือไม่ ซึ่งกรมสวัสดิการฯ กำลังเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด

นางอัมพร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหาการเลิกจ้างในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น

ใน จ.ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ล่าสุดพบว่านอกจากสถานประกอบจะประสบปัญหายอดการสั่งซื้อลดลงแล้ว หลายแห่งยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และต้องการให้กระทรวงแรงงานหาทางช่วยเหลือ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเลิกจ้าง ซึ่งตรงกับแนวคิดการของบประมาณอีก
1,000 ล้านบาทจากรัฐบาล ขององค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย เพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้กับสถานประกอบการ แต่เรื่องดังกล่าวต้องมีการวางแผนการอนุมัติเงินกู้ให้กับสถานประกอบการอย่างชัดเจน โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี และต้องเป็นการปล่อยกู้ช่วยเหลือธุรกิจเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างงานเท่านั้น


ส่วนความคืบหน้าในการช่วยเหลือพนักงานบริษัทนิคอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน
2,192 คนนั้น นางอัมพร กล่าวว่า ล่าสุดนายจ้างตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวน 20
ล้านบาท ให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 

แบ่งเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
1 เดือนจำนวน 14 ล้านบาท ค่าชดเชยจำนวน 6 ล้านบาท โดยจะนัดจ่ายโดยตรง และโอนผ่านธนาคารตามบัญชีของพนักงานในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาให้วางแผนการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างได้ส่วนหนึ่ง

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์