รณรงค์ง่วงอย่าขับ76จังหวัดลดอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุจราจร นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยสูงเป็นลำดับต้น ๆ สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในแต่ละปีประมาณ 13,000 คนต่อปี ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 20,000 ล้านบาท
  
ในการขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเมาแล้วขับ โทรศัพท์ขณะขับรถ หรือโครงการ ง่วงไม่ขับ ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนแล้ว นับเป็นพระกรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงห่วงใยคนที่ง่วงและฝืนขับรถ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่อตนเองและผู้อื่น ทรงรับทุนง่วงอย่าขับฯ ไว้ในพระอุปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2548 และทรงมีรับสั่งให้ทุนง่วงอย่าขับฯ ประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อทุกประเภทให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายของการหลับใน
  
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดีในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ทุนง่วงอย่าขับฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน


จัดโครงการ “รณรงค์ง่วงอย่าขับ 76 จังหวัด” เพื่อถวายเป็นพระกุศล ซึ่งการง่วงแล้วขับรถถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และจากการศึกษาของมูลนิธินอนหลับแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่ขับรถ 1 ใน 3 คนเคยหลับในขณะขับรถ และจากที่ทุนง่วงอย่าขับฯ ได้สำรวจโดยใช้แบบสอบถามคนขับรถทั้งรถจักรยานยนต์ รถเก๋ง รถบรรทุก รถโดยสาร บขส.และขสมก. พบว่าร้อยละ 28-53 เคยหลับในขณะขับรถ เป็นการหลับระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 10 วินาทีเป็นการหลับตื้น ๆ ปลุกตื่นได้ง่ายหรืออาจสะดุ้งตื่นเอง ในขณะที่ตาอาจยังเปิดอยู่ขณะหลับใน นับเป็นเรื่องอันตรายมากและการหลับในแม้เพียง 4 วินาที ถ้ารถวิ่งด้วยความเร็วสูง 90 กม.ต่อชั่วโมง จะทำให้รถวิ่งไปข้างหน้า 100 เมตรโดยไม่มีการควบคุมรถ

สำหรับรายงานสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย ปี 2550 ระบุว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับในเพียง 500 กว่าราย คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของอุบัติเหตุทั้งหมด
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงอันตรายและวิธีป้องกันการหลับในให้มากขึ้น นายประทักษ์ ประทุมทรัพย์ ผู้แทนสำนักงานคุมประพฤติ กล่าวว่า การหลับในขณะขับรถนั้น ไม่มีเครื่องมือใดที่จะตรวจวัดความง่วงได้ดีกว่าความรู้สึกของผู้ที่ขับรถเอง การขับรถขณะง่วงปัจจุบันไม่มีการกำหนดโทษทางกฎหมาย แต่หากขับรถง่วงแล้วไปเกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องมีการดำเนินคดีทางอาญาและตามพ.ร.บ.จราจรทางบก อย่างไรก็ตามหากศาลตัดสินโดยให้โอกาสรอลงอาญาและสั่งคุมประพฤติ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลของกรมคุมประพฤติ ซึ่งตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. 51 มีผู้กระทำผิดในคดีตามพ.ร.บ.จราจรทางบก 30,998 ราย ในจำนวนนี้ศาลสั่งให้ทำงานบริการสังคม จำนวน 24,356 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ที่เหลืออีก 6,642 ราย ศาลไม่ได้กำหนดให้ทำงานบริการสังคม ซึ่งการคุมประพฤติเป็นอีกมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดแทนการจำคุกหรือโทษปรับ
 
ด้าน นายบุญทอง อุ่นขจรวงศ์ ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามกฎหมายแรงงานระบุให้ผู้ที่เป็นพนักงานขับรถ ในรอบ 24 ชั่วโมง จะปฏิบัติหน้าที่ได้ติดต่อกัน 4 ชั่วโมง

หากเกินกว่านี้จะต้องพักอย่างน้อย 30 นาที แล้วจึงจะสามารถขับรถต่อได้อีก 4 ชั่วโมง ทั้งนี้กฎหมายได้ระบุให้ผู้ที่เป็นพนักงานขับรถมีการพักผ่อน ไม่ให้ร่างกายเหนื่อยหรือง่วง ซึ่งจะเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยในส่วนของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะในระยะที่ไกลกว่า 300 กิโลเมตร จะต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน ซึ่งกรมฯได้มีการออกตรวจทุกครั้งที่มีเทศกาลที่ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดมาก และเปิดให้ประชาชนที่พบเห็นความไม่ปลอดภัยแจ้งได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584


ความพร้อมของผู้ขับขี่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ใน 3 ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ นอกเหนือไปจากความพร้อมของรถ และ สภาพแวดล้อมในการขับขี่ ...ลดคนเจ็บคนตายจากอุบัติเหตุเริ่มได้ที่ตัวเราเอง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์