ธปท.เล็งลดดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจ สัญญาณสภาพคล่องตึงตัว-เศรษฐกิจชะลอตัวชัดเจน

ธปท.รับสัญญาณสภาพคล่องตึงตัว

เศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านการเติบโตมากขึ้น เล็งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.วันที่ 3 ธันวาคมนี้ "สมคิด" แนะรัฐใช้งบแสนล้านเน้นพัฒนาสินค้าเกษตร ด้าน ดร.ก้องเกียรติประเมินปีหน้าจีดีพีไทยมีสิทธิ์ต่ำกว่า 3% เชียร์ลดดอกเบี้ยช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจนิด้า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และวิเคราะห์ความเสี่ยง พร้อมจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ธุรกิจภายใต้วิกฤติไทย วิกฤติโลก"
 

 ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า
 
แม้ขณะนี้สภาพคล่องในระบบของไทยจะยังไม่มีปัญหา แต่ในอนาคตก็มีสัญญาณว่าสภาพคล่องจะตึงตัว ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปรับตัวไปแล้วหลายแห่ง เช่น มีการแข่งขันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้ว อย่างไรก็ดี ธปท.ก็ต้องดูแลให้สภาพคล่องของระบบเพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อ


ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้

มีโอกาสที่ ธปท.จะนำดอกเบี้ยนโยบายมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
เนื่องจากพบว่าขณะนี้แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มลดลง หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับการประชุม กนง.ครั้งก่อน


 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐมีความสำคัญมาก ซึ่งการที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณขาดดุล 1 แสนล้านบาท ควรให้ความสำคัญไปที่ภาคการเกษตรพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ พัฒนาระบบชลประทาน เพื่อสนับสนุนการเกษตรให้มีความก้าวหน้า นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุด


 ด้าน ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารบริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า
 
ในปี 2552 จีดีพีของไทยมีโอกาสโตต่ำกว่า 3% เนื่องจากประเมินว่าภาคการส่งออกน่าจะติดลบ และภาคเอกชนเริ่มหมดแรง ไม่มีการขยายการลงทุนเพิ่ม โดยผู้ประกอบการเริ่มกอดเงินสด เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ภาครัฐควรจะมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อเร่งการใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น


 "อัตราดอกเบี้ยน่าจะลดลง เพราะขณะนี้เองก็เห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเงินเฟ้อลดลงไปค่อนข้างมากแล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะเร่งให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น" ดร.ก้องเกียรติกล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์